เปิดผลศึกษา สปช. ‘นิรโทษกรรม’ หนทางสู่ปรองดอง

17 มิ.ย. 2563 | 06:20 น.

 

แนวความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่เตรียม “นิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมือง” โดยมอบ ให้ “ทีมงาน” ไปรวบรวมคดีที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น 

 

เรื่อง “การสร้างความปรองดอง” เคยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาไว้หลายชุด โดย “ฐานเศรษฐกิจ” จะขอพาไปดูผลการศึกษาของ “คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง” สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ได้ศึกษาไว้ และมีข้อเสนอหนึ่งที่จะนำไปสู่ “การปรองดอง” ได้ นั่นคือ “นิรโทษกรรม” ซึ่งรายงานชิ้นนี้ได้เคยถูกส่งไปยัง “คณะรัฐมนตรี” เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 

 

ส่วนหนึ่งของรายงานระบุถึง การอำนวยความยุติธรรม การสำนึกรับผิด และการให้อภัย โดยการวางยุทธศาสตร์ในการนำทั้งกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการตรากฎหมายพิเศษเพื่อนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เพื่อการสร้างปรองดองและสมานฉันท์ โดยนำคดีความเฉพาะคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงระยะเวลานับแต่ พ.ศ. 2548-2557 ที่ทั้งฝ่ายรัฐและประชาชนเป็นผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมาก มาแยกแยะจัดกลุ่มประเภทคดี และสถานะของคดี

 

ในกรณีที่คดียังอยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้เร่งรัดกระบวนการดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อสรุปสำนวน โดยพิจารณาจำแนกถึงมูลเหตุแห่งการกระทำผิดว่า 

 

1. เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง 

 

หรือ 2. เป็นความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ 

 

หรือ 3. เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง แต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ 

 

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนคดีพิเศษ อาจใช้อำนาจในการทำความเห็นต่อประเด็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเสนอต่ออัยการเพื่อพิจารณาต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140-147

 

ในกรณีที่คดีอยู่ในกระบวน การของศาลยุติธรรม ให้พนักงานอัยการอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย

 

เปิดผลศึกษา สปช. ‘นิรโทษกรรม’  หนทางสู่ปรองดอง

 

หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ. 2554 พิจารณาไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาต่อคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน 

 

ส่วนหนึ่งของรายงาน ยังมีการพูดถึงการ “นิรโทษกรรม” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ควรเกิดขึ้นตามมา หลังจากที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายที่สร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น ยอมรับเข้าร่วมกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคลี่คลายปมปัญหาในอดีต ตั้งแต่การตรวจสอบ ค้นหาความจริง การอำนวยความยุติธรรม การฟื้นฟูและเยียวยา การแสดงความสำนึกรับผิดและการให้อภัย 

 

หากรัฐบาลมีความประสงค์จะนำ “การนิรโทษกรรม” มาใช้ในการเสริมสร้างความปรองดอง นำชาติสู่สันติสุข สิ่งสำคัญที่ควรทำ คือ การดำเนินการในหลายระดับอย่างเป็นกระบวนการ โดยให้ความสำคัญกับการแสวงหาข้อตกลงระหว่างคู่ขัดแย้ง ทั้งในระดับแกนนำและผู้สนับสนุน รวมทั้งสร้างบรรยากาศที่พร้อมรองรับการปรองดองและสร้างความเข้าใจถึงขอบเขตของการนิรโทษกรรมต่อสังคม 

 

 

ในขั้นเริ่มต้นควรเป็นการนิรโทษกรรมสำหรับ “คดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง” ซึ่งหมายความถึงบรรดาการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมือง โดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือมีการกระทำความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมืองในวาระเดียวกันนั้น  

 

ทั้งนี้ ขอบเขตในการกำหนดประเภทคดีที่จะได้รับการ “นิรโทษกรรม” ดังกล่าว ไม่รวมถึงการกระทำความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

 

ก่อนจะมีการนิรโทษกรรมดังกล่าว จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนหลายประการ ทั้งในด้านการอำนวยความยุติธรรม และการดำเนินการในด้านอื่นๆ เช่น การเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผล กระทบทุกกลุ่มทุกฝ่าย การเปิดเวทีให้ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้สื่อสารกับสังคม การสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องการนิรโทษกรรม การสร้างโอกาสและสภาวะให้ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มทุกฝ่ายกลับคืนสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี

 

การนิรโทษกรรมสำหรับคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองนี้ สามารถดำเนินการได้โดยอาศัยกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน หากรัฐบาลจะเริ่มดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง การดำเนินกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน

 

สำหรับการสร้างความปรองดองในขั้นต่อไป กระบวนการดำเนินการในขั้นนี้จะแยกประเภทคดีเป็น 2 กลุ่ม คือ คดีที่รัฐกระทำต่อบุคคล (ใช้หลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน) และคดีที่บุคคลกระทำละเมิดต่อบุคคล (ใช้หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และการคุมประพฤติ) การดำเนินงานจำเป็นต้องมีการตรากฎหมายพิเศษเพื่อกระบวนการยุติธรรมสำหรับการปรองดองและสมานฉันท์ 

 

 

อย่างไรก็ตาม ขอบเขตในการกำหนดประเภทคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมในขั้นนี้ จะไม่รวมถึงความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

 

ทั้งนี้ หากเห็นสมควรออก “กฎหมายนิรโทษกรรม” ทั้งในเริ่มต้นและขั้นต่อไปดังที่กล่าวข้างต้น ควรกำหนดเงื่อนไข 4 ประการที่ต้องพิจารณา ได้แก่

 

1. การยอมรับของเหยื่อ ผู้ถูกกระทำและผู้ได้รับผลกระทบ

 

2. การแสดงความสำนึกรับผิดต่อสาธารณะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง

 

3. การให้อภัยของเหยื่อผู้ถูกกระทำและผู้ได้รับผลกระทบ

 

4. การเปิดเผยความจริง การให้ข้อมูลที่เป็นจริงของผู้กระทำในเหตุการณ์

 

หากผ่านเงื่อนไขทั้ง 4 ประการ จึงนำไปสู่การออก “กฎหมายนิรโทษกรรม” แต่จะไม่ มีการนิรโทษกรรมในกรณีมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,584 หน้า 10 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน 2563