โควิดพลิกธุรกิจสปา วางยุทธศาสตร์ไทยฮับเมดิคัล & เวลเนส 

20 มิ.ย. 2563 | 08:35 น.

สมาคมสปาไทย  ย้ำวิกฤตโควิด-19 สร้างโอกาสธุรกิจเพื่อสุขภาพ หนุนผู้ประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาตหันมาเข้าระบบเพิ่มมากขึ้น ทั้งผนึกสภาหอการค้าไทย วางยุทธศาสตร์ดันไทยฮับเมคิคัล-เวลเนส เอเชีย โดยพัฒนาพื้นที่ “รอยัล โคสต์” เป็นโครงการต้นแบบ พร้อมชงเสนอให้ปลดล็อกกฏหมาย ขับเคลื่อนธุรกิจ 

 

การคลายล็อกดาวน์เฟส 4 ของสถานประกอบการ เพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทยที่เกิดขึ้นล่าสุด ส่งผลธุรกิจสปา และร้านนวดต่างๆ เริ่มทยอยเปิดให้บริการได้แล้ว หลังจากต้องปิดธุรกิจมานานกว่า 3 เดือน แต่ด้วยความที่ลูกค้าต่างชาติยังคงไม่สามารถเดินทางมาเที่ยวไทยเหมือนในอดีต เพราะไทยยังปิดน่านฟ้า ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าไทยอยู่ 

ทำให้ธุรกิจที่ตัดสินใจกลับมาเปิดให้บริการ จึงต้องปรับกลยุทธหันมาเน้นทำตลาดลูกค้าคนไทยเป็นหลัก โดยเน้นดำเนินการใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า ด้วยการบริการที่ถูกต้องตามสุขอนามัยตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และ2.การลดราคาเพื่อจูงใจให้คนไทยใช้บริการ

โควิดพลิกธุรกิจสปา  วางยุทธศาสตร์ไทยฮับเมดิคัล & เวลเนส 

อย่างไรก็ตามแม้ธุรกิจสปา จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ในวิกฤตก็จะเป็นโอกาสที่จะทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบกลับเข้ามาสู่ในระบบ และหลังโควิด-19สิ้นสุด ประเทศไทย ก็จะเป็นจุดหมายระดับแถวหน้า ของการท่องเที่ยว เพื่อสุขภาพของโลก จากการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี และพฤติกรรมของคนที่ใส่ใจเรื่องความสะอาดและสุขภาพเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม 

ดังนั้นขณะนี้สมาคมสปาไทยและหอการค้าไทย ก็กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่างๆ เพื่อสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาและดูแลสุขภาพ (เมดิคัล & เวลเนส) ของเอเชีย

นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัจจุบันธุรกิจสปาและร้านนวดของไทย ที่มีใบอนุญาตจะอยู่ที่ 8 พันใบ มีผู้ดำเนินธุรกิจสปาที่ผ่านการอบรมและมีใบอนุญาตอยู่ที่ 1.2 หมื่นราย แต่ในทางตรงกันข้าม ก็มีธุรกิจที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องอีกร่วม 2 เท่าตัว  แม้ว่าตามพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพปี2559 จะกำหนดให้เจ้าของธุรกิจต้องมีใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ แต่ก็พบว่าในทางปฏิบัติมีความหย่อนยานในการปฏิบัติ 

แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ผมก็มองว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ผลักดันให้ธุรกิจที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเหล่านี้ หันมาเข้าสู่มาตรฐาน เพราะเห็นตัวอย่างแล้วว่าหากเป็นสถานประกอบการที่จดทะเบียนถูกต้อง ก็จะได้รับสิทธิดีๆ อาทิ การสร้างมาตรฐานเพื่อเข้าสู่ Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า รวมถึงด้านการตลาด ทั้งยังได้รับการตรวจประเมินตน ตามข้อกำหนดต่างๆของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้สามารถกลับมาเปิดธุรกิจได้

กรด โรจนเสถียร

เนื่องจากหลังจากเกิดโควิด-19 นอกจากธุรกิจสปาและนวดเพื่อสุขภาพ จะต้องมีใบอนุญาตประกอบการแล้ว ยังต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบต่างๆด้านความสะอาดและสุขอนามัย ที่ต้องทำเพิ่มเติม  ซึ่งถ้าผ่านการประเมินก็จะมีใบรับรองติดที่หน้าร้าน เพื่อแสดงให้ลูกค้ามั่นใจในการใช้บริการ

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นรองรับการเติบโตหลังโควิด-19 ซึ่งพบว่าเมดิคัลและเวลเนส ของไทย จะกลายเป็นธุรกิจที่อยู่ในระดับแถวหน้า เป็นจุดแข็งของไทย เพราะพฤติกรรมของคนใส่ใจสุขภาพเพิ่มขึ้น ดังนั้นสมาคมสปาไทย จึงได้ร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  นำเสนอยุทธศาสตร์ให้แก่รัฐบาล ในการสร้างประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางการรักษา และดูแลสุขภาพ (เมดิคัล & เวลเนส ฮับ)ของเอเชีย 

โดยพัฒนาพื้นที่ “รอยัล โคสต์” (เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร-ระนอง)เป็นพื้นที่ต้นแบบ ในการดำเนินโครงการ เวลเนส เจอร์นีย์ ภายใต้แนวคิด “สุขภาพ นำท่องเที่ยว” ที่ผสมผสานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ วัฒนธรรม และกีฬา  การเชื่อมโยงโครงการระหว่างกลุ่มBCG หรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงไปยังกลุ่มด้านอาหาร(อาหาร สมุนไพร) กลุ่มเครื่องมือแพทย์,เกษตร และKey Drivers ที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนการเป็นเมดิคัล & เวลเนส ฮับ

เช่น เชื่อมโยงการแพทย์แผนปัจจุบันกับแพทย์แผนไทย และเทคโนโลยีAI มาช่วยในการตัดสินใจรักษา ,วิธีการคัดกรองและติดตามการเดินทางท่องเที่ยวในยุคNew Normal ,การสร้างมาตรฐานด้าน กรีน/เวลเนส ให้ครอบคลุมตลอดValue chain ในการท่องเที่ยว เช่น เวลเนส โฮเทล เป็นต้น  

รวมถึงการเสนอแก้ไขกฏหมายที่เป็นอุปสรรค อาทิ เร่งรัดให้มีกฏหมายที่กำกับดูแลและส่งเสริมการให้บริการการแพทย์ทางไกล(โทรเวชกรรม), ให้การรับรอง การแพทย์ธรรมชาติบำบัด  Naturopathic เป็นสาขาแพทย์ทางเลือกของไทย,การออกกฏกระทรวงให้กิจการน้ำพุร้อนเพื่อสุขภาพเป็นกิจการภายใต้พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ,ใบอนุญาตการประกอบการด้านเวลเนส ให้สามารถขอใบอนุญาตได้ครบในใบเดียว

เช่นเดียวกับดำเนินการให้โรงแรมและที่พักนอกระบบ จดทะเบียนในระบบให้มากที่สุด ,ศึกษาและออกกม.ให้ธุรกิจแบ่งปัน Sharing Economy จากดิจิทัยแพลตฟอร์ม อย่าง Airbnb  หรือ Grab ให้จดทะเบียนดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกม.

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563