เกษตรกรโวย รัฐลักไก่ สับ ขาหลอก “CPTPP”

14 มิ.ย. 2563 | 06:30 น.

ชาวนา-ผู้เลี้ยงสุกร โวยรัฐลักไก่ ตั้ง กมธ.ศึกษา ทั้งที่ เกษตรกร-เอ็นจีโอขวาง ยังฝืนดื้อดึง ชี้สหรัฐ ยักษ์ใหญ่ระดับโลกยังถอย ทำไม “ไทย” ยังฝืนกระแส

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาญัตติด่วนจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP โดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ย้ำความจำเป็นของการเสนอญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการ เนื่องจากกระทบหลายกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศไทย

ทั้งนี้ มีสมาชิกเสนอญัตติทั้งสิ้นจำนวน 7 คน อาทิ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และ นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นต้น โดยทั้งหมดต่างเห็นควรให้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อทำการศึกษาถึงผลดี ผลเสีย ความพร้อมต่างๆ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ในเชิงลึกทุกมิติ โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและคนไทย ทั้งนี้ สภาพ มีมติคณะกรรมาธิการศึกษาการเข้าร่วม CPTPP  จำนวน 49 คน

เกษตรกรโวย รัฐลักไก่ สับ ขาหลอก “CPTPP”

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางสมาคมทั้งประเทศได้ผ่านความคิดเห็นมาที่ผม ว่า “ไม่เห็นด้วย” ที่จะไปเข้าร่วม CPTPP ตอนแรกนึกว่าล้มไปแล้วด้วยซ้ำไปซึ่งไม่คิดว่ารัฐบาลจะกลับมาลักไก่อีก เพราะข้อตกลงการเข้าร่วม CPTPP ไม่เกิดประโยชน์กับเกษตรกรเลย ขนาดสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจโลกยังถอนตัวไม่เข้าร่วม แต่ทำไมประเทศไทยอยากเข้าร่วม ชาวนาไม่เห็นด้วย แต่ถ้ามีประโยชน์จริง ผมไม่ว่าอะไร แต่นี่มองดูแล้วไม่มีประโยชน์จริง กับเกษตรกรและชาวนาเลย ซึ่งความกังวลเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ชาวนาบางส่วนจะเก็บพันธุ์ไว้ปลูกเอง หรือจำหน่ายกันเอง ไม่ได้

เกษตรกรโวย รัฐลักไก่ สับ ขาหลอก “CPTPP”

ด้านนายสุเทพ คงมาก กรรมการในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยว่า ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในที่ประชุม นบข. จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือด้วย มองแล้วซ้ำรอยคล้ายกับ พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ....เลย ถ้าไม่แข็งขืนนะ ชาวนาเสียเปรียบในอนาคตอย่างแน่นอน ซ้ำร้ายอาจจะมีโทษถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้ 

ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกร โพสต์ผ่านเฟสบุคส์ ว่า ทำไมสียงของเกษตรกรรายย่อย 200,000 ครัวเรือนซึ่งเลี้ยงสุกร และอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเข้าร่วม CPTPP แทบไม่มีใครกล่าวถึงเลย ?

แคนาดาคือประเทศยักษ์ใหญ่อันดับ 3 รองจากสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่ส่งออกเนื้อสุกรมากที่สุดในโลก โดยสถิติเมื่อปี 2562 กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 28 ประเทศ ส่งออกเนื้อสุกรรวมกัน 3.15 ล้านตัน สหรัฐอเมริกา 2.81 ล้านตัน และแคนาดาส่งออก 1.37 ล้านตัน

ต้นทุนการเลี้ยงสุกรของแคนาดาอยู่ที่ 39 บาท/ก.ก. ในขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ของไทยอยู่ที่ 64 บาท/ก.ก. การเข้าร่วม CPTPP ซึ่งต้องลดภาษีนำเข้าให้เป็นศูนย์ จะส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกรในประเทศไทยสถิติเมื่อปี 2560 ระบุว่า มีเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรในประเทศไทยรวม 235,608 ครัวเรือน โดยส่วนใหญ่ เป็นฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยที่มีจำนวนการเลี้ยงไม่เกิน 50 ตัวมากถึง 181,694 ล้านครัวเรือน สุกรที่เลี้ยงในประเทศไทย 97% เป็นการเลี้ยงเพื่อการบริโภคภายในประเทศ มีการส่งออกเล็กน้อยเพียงแค่ 3% เท่านั้น

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าวว่า ผลกระทบของ CPTPP นอกจากจะส่งผลต่อผู้เลี้ยงสุกรโดยตรงแล้ว จะส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น ชาวไร่ข้าวโพดอีก 425,281 ครัวเรือน ไม่นับชาวไร่มันสำปะหลัง และชาวนา ซึ่งผลิตภัณฑ์ของมันและข้าวสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย

 

ทำไมเสียงเหล่านี้จึงไม่มีความหมาย เท่ากับคำแถลงของตัวแทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ? ทำไมผู้เลี้ยงสุกร "รายย่อย" จึงถูกลอยแพ ทั้งๆที่เมื่อ 3 ปีก่อน ผู้เลี้ยงสุกรทุกกลุ่มต่างประสานเสียงกันคัดค้าน CPTPP ?