รัฐเร่งเครื่องเทคโนโลยี ชูดิจิทัลโซลูชัน รับวิถี New Normal

06 มิ.ย. 2563 | 04:11 น.

ภาครัฐ เร่งเครื่อง พัฒนาเทคโนโลยีเนคเทค ลุยต่อ ยอด “มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์” เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะของไทย ด้านดีป้า เดินหน้าหลักสูตรหนุนภาคการเกษตรไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมรับวิถี New Normal หลังพ้นวิกฤติโควิด-19

     ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กล่าวว่า เนคเทค-สวทช. ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนา “มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์” (µTherm-FaceSense) ที่ปรับปรุงข้อจำกัดของมิวเทอร์มในอดีตที่พัฒนาขึ้นครั้งแรกในปี 2007 ด้วยงบประมาณการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยจุดเด่น ของ “มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์” นั้นเป็นระบบตรวจอุณหภูมิที่ใช้กล้องตรวจจับความร้อนสแกนใบหน้าได้ครั้งละหลายคนพร้อมกันได้สูงสุด 9 คน และรู้ผลภายใน 0.1 วินาทีจากระยะห่าง 0.5-1.5 เมตร สามารถวิเคราะห์และประมวลผลได้ภายในตัวเครื่อง ส่งข้อมูลเพื่อจัดเก็บผ่านเครือข่ายการสื่อสารในราคาที่เข้าถึงได้เพื่อใช้ในการคัดกรองเบื้องต้นในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ โรงพยาบาล เรือนจำ สถานีรถไฟฟ้า สนามบิน โรงเรียน ซึ่งเบื่องต้นได้มีการพัฒนามิวเทอร์ม เฟสเซนซ์ จำนวน 40 เครื่อง โดยจะกระจายไปยังโรงพยาบาลและหน่วยบริการโลหิต 8 แห่ง จำนวน 15 เครื่อง, หน่วยงานราชการและเรือนจำ 10 แห่ง จำนวน 12 เครื่อง, หน่วยงานด้านคมนาคม 3 แห่ง จำนวน 5 เครื่อง และสำรองไว้ที่เนคเทค 8 เครื่อง

รัฐเร่งเครื่องเทคโนโลยี ชูดิจิทัลโซลูชัน รับวิถี New Normal
    นอกจากนี้ในอนาคต มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์ จะมีการพัฒนาเพิ่มเติมอีก 2 ส่วน คือ 1) การวิจัยและวิศวกรรม เรื่องของความสามารถในการจดจำใบหน้า (Face Recognition) ภายใต้หน้ากาก และ 2) การขยายผลเชิงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับภาคเอกชนไทยที่สนใจจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเอาไปผลิตเพื่อจำหน่ายต่อได้

    รัฐเร่งเครื่องเทคโนโลยี ชูดิจิทัลโซลูชัน รับวิถี New Normal       ด้านดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้าได้ผลักดันให้ทุกภาคส่วนเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล รองรับยุคฐานวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ภายหลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 นั้น หนึ่งในภารกิจสำคัญคือ การปรับเนื้อหา “หลักสูตรผู้นำการส่งเสริมดิจิทัลด้านธุรกิจเกษตร” รุ่น 2 เพื่อให้ผู้บริหารจากองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะด้านการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการอบรมไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพองค์กรให้พร้อมเข้าสู่ยุคนิวมอร์มอล หลังผ่านพ้นวิกฤติ โควิด-19

  ทั้งนี้หลักสูตรผู้นำการส่งเสริมดิจิทัลด้านธุรกิจเกษตร รุ่น 2 จะมุ่งเน้นการส่งเสริมทักษะและองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจจากประสบการณ์จริง พัฒนาวิสัยทัศน์การกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลด้านการเกษตรสมัยใหม่รับยุคนิว นอร์มอล ด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการ เกษตรที่มีความทันสมัยในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น IoT (Internet of Things) การใช้ระบบเครื่องรับรู้ เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง (Big Data Management) เครื่องจักรกลอัตโนมัติ (Robot) ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) อากาศยานไร้คนขับ (Drone), Cloud, AR & VR, Blockchain, Digital Marketing และการวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงการบริหารจัดการผลิตผลเกษตรแบบครบวงจรเพื่อตอบรับวิถี New Normal หลัง โควิด -19 

: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,581 หน้า 16 วันที่ 7 - 10 มิถุนายน 2563