โควิดกระทบส่งออก Q1ใช้สิทธิ FTA-GSP วูบ 10%

04 มิ.ย. 2563 | 09:15 น.

ยอดการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP ในช่วง 3 เดือน ลดลง9.97%  เหตุได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  แต่ภายใต้วิกฤต พบกลุ่มสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แนะใช้ประโยชน์จาก FTA และ GSP ก่อนทำการส่งออก

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ช่วง 3 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) ว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมมูลค่า 16,249.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.97% มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ฯ 75.53% ของการใช้สิทธิทั้งหมด แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 14,911.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 1,338.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โควิดกระทบส่งออก  Q1ใช้สิทธิ FTA-GSP วูบ 10%

โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่  อาเซียน  มูลค่า 5,621.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง เช่น เครื่องปรับอากาศที่ใช้ติดหน้าต่าง ผนัง เพดาน หรือพื้นที่มีส่วนประกอบสมบูรณ์ในตัว รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคล ความจุกระบอกสูบ 1,500-2,500 ลบ.ซม. เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ , จีน  มูลค่า 3,762.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง เช่น  ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด มันสำปะหลัง , ออสเตรเลีย มูลค่า 1,750.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง  เช่น รถบรรทุกขนส่งขนาดไม่เกิน 5 ตัน เครื่องปรับอากาศติดผนัง , ญี่ปุ่น มูลค่า 1,807.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงเช่น  ไก่ชนิดแกลลัสโดเมสติกัส ชิ้นเนื้อและส่วนอื่นที่บริโภคได้ของสัตว์ปีกแบบแช่แข็ง และ  อินเดีย มูลค่า 1,125.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง เช่น เครื่องปรับอากาศ ลวดทองแดงอื่นๆ แทรกเตอร์อื่นๆ สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่  ไทย-ชิลี ,ไทย-เปรู , อาเซียน-จีน , ไทย-ญี่ปุ่น , และ ไทย-ออสเตรเลีย (75.85%)

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ 1,338.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.62% โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ มากที่สุด คือ สหรัฐฯ มูลค่า 1,224.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.48% อันดับสอง คือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า  65.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.23% อันดับสาม คือ รัสเซียและเครือรัฐ มูลค่า 41.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.07% และนอร์เวย์ มูลค่า 6.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 42.31% สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ถุงมือยาง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ น้ำผลไม้และน้ำพืชที่ไม่ได้หมักและไม่เติมสุรา หม้อแปลงไฟฟ้าอื่นๆ

โควิดกระทบส่งออก  Q1ใช้สิทธิ FTA-GSP วูบ 10%

“ การส่งออกโดยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และหลายประเทศเริ่มทำการปิดเมือง พรมแดน รวมถึงปิดประเทศชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตจนไปถึงการขนส่งสินค้า/โลจิสติกส์ระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้การส่งออกไปบางตลาดลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เช่น จีน ลดลง 12.91%, ญี่ปุ่น ลดลง 11.88%, เกาหลี ลดลง 10.24% แต่มีบางตลาดที่มีการขยายตัวของการใช้สิทธิประโยชน์ฯ เช่น อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ขยายตัว 48.92%, อาเซียน-นิวซีแลนด์ ขยายตัว 19.16%)และเปรู ขยายตัว 3.72%”

 

โควิดกระทบส่งออก  Q1ใช้สิทธิ FTA-GSP วูบ 10%

อย่างไรก็ตาม พบว่า การส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรแปรรูปของไทยไปยังประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงทางการค้าเสรี 13 ฉบับ และประเทศที่ให้สิทธิฯ GSP แก่ไทย ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จากความต้องการบริโภคสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้หลายสินค้ามีการส่งออกไปตลาดสำคัญโดยใช้สิทธิฯ เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา