อภ.ใช้พื้นที่จ.สระบุรี ต่อยอดงานวิจัยวัคซีนต้านโควิด

01 มิ.ย. 2563 | 08:55 น.

อภ.พร้อมใช้ โรงงานวัคซีน จ.สระบุรี ต่อยอดงานวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ผลิตในระดับอุตสาหกรรม

การพัฒนาและวิจัยวัคซีนต้านโควิด-19ของไทยมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ วันนี้ (1 มิถุนายน 2563) เฟซบุ๊ก องค์การเภสัชกรรม (อภ.) รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด โดยนายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ในสถานการณ์โควิด -19 นั้นภารกิจของ อภ. คือ การผลิต จัดหา ยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกัน ที่สำคัญคือการร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในหลายรูปแบบ ได้แก่

1.สนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้นแบบ 2 ชนิดคือ ชนิดอนุภาคเหมือนไวรัส (Virus-like particle) และชนิดวัคซีนโปรตีนซับยูนิต (Subunit vaccine)  โดยวัคซีนทั้ง 2 ชนิด นี้ ใช้เทคโนโลยีการใช้เซลล์เพาะเลี้ยง อภ.จะรับถ่ายทอดเทคโนโลยีมาเพื่อพัฒนาต่อในการขยายขนาดการผลิตเป็นวัคซีนตามมาตรฐาน GMP สำหรับใช้ในการทดสอบทางคลินิกต่อไป

2.ร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) เพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตายจากการตัดต่อยีนของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ SARS-CoV2 เข้าไปในยีนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Inactivated influenza virus-based COVID-19 vaccine) เพื่อเป็นเชื้อไวรัสตั้งต้น หากสำเร็จจะนำเชื้อไวรัสตั้งต้นนี้ผลิตเป็นวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟักของอภ.เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาทางคลินิกต่อไป คาดว่าการวิจัยพัฒนาวัคซีนทั้ง 3 ชนิด จะทราบผลเบื้องต้นในปลายปี 2563

นอกจากนี้จากการลงพื้นที่ของคณะผู้บริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมด้วย คณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนจากหน่วยงานต่างๆ ได้ติดตามความก้าวหน้าและความพร้อมในการผลิตวัคซีนโควิดสำหรับใช้ในประเทศ ที่โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ของ อภ. ต่างมีความเห็นว่าอภ.มีปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่มีศักยภาพและมีความพร้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบรรจุวัคซีนโควิด-19ที่สามารถทำในระดับอุตสาหกรรมได้ทันที 

อภ.มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนโควิด19 เรามีโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นทุนเดิมที่มีศักยภาพและปัจจัยพื้นฐานหลายๆด้าน สามารถนำมาประยุกต์และก่อสร้างต่อยอดเพิ่มเติมเป็นโรงงานสำหรับผลิตวัคซีนโควิด19 ได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านการวิจัย พัฒนาวัคซีน มีประสบการณ์การผลิตวัคซีนหลายชนิด มีเครื่องมือ เครื่องจักรที่ทันสมัย รองรับการผลิตทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและในระดับอุตสาหกรรม ได้ในหลายรูปแบบตามผลสำเร็จของการวิจัย และพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งยังรอผลการวิจัยว่าจะได้วัคซีนต้นแบบชนิดไหนที่เหมาะสมที่สุดต่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรมผอ.องค์การเภสัชกรรมกล่าว