ชี้ชะตา”การบินไทย” ตามล่า 23 ปัจจัยเสี่ยง

16 พ.ค. 2563 | 13:22 น.

คำประกาศของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ระบุเมื่อวันอังคารที่ 12 พ.ค.ว่ากระทรวงคมนาคมต้องการพิจารณาแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ให้รอบคอบก่อนเสนอ ครม.อนุมัติแผน

แผนฟื้นฟูต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่ไม่เสี่ยง แต่แผนฟื้นฟูที่การบินไทยเสนอมานั้นกลับพบความเสี่ยงถึง 23 เรื่อง และไม่มีรายละเอียดของแอคชั่นแพลน จึงสั่งให้ทำแอคชั่นแพลนมาให้ครอบคลุม และชี้แจงได้ทุกเรื่อง แผนฟื้นฟูควรมีแผนบริหารหนี้ แผนหารายได้ แผนรายจ่ายให้ชัดว่าใครทำอะไรอย่างไร และที่สำคัญต้องนำเงื่อนไขโควิด-19 มาพิจารณาด้วย และต้องไม่มีความเสี่ยงแม้แต่เรื่องเดียว

ประเด็น 23 ปัจจัยเสี่ยงของการบินไทย กลายเป็นคำถามดังๆที่สังคมสงสัยว่าองค์กรการบินไทยสุ่มเสี่ยงขนาดนี้เชียวหรือและสุ่มเสี่ยงขนาดนี้แล้วจะมาขอเงินค้ำประกันจากรัฐบาล 54,000 ล้านบาทเพื่อนำไปบริหารองค์กรที่เสียงขนาดนี้ได้อย่างไร

ล่าสุด บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) หรือ THAI ชี้ว่า ปัจจัยเสี่ยงของการบินไทยที่ยังเห็นว่า จำเป็นจะต้องแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่ Reorganization ก่อนเข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการให้กับการบินซึ่ง มีอยู่ทั้งส้ิน 23 ปัจจัย ประกอบด้วย

1.ต้องปรับปรุงข้อมูลการซ่อมบำรุงที่เดิมอาจทำไม่ครบถ้วน รวมถึงการขายเครื่องบิน และเครื่องยนต์จึงต้องมีการวิเคราะห์เพื่มเติม 

2.ต้องปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางการบิน เริ่มจากเส้นทางบินระยะยาว รวมถึงการบริหารจัดการเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร หรือ ไม่มีเครื่องบินที่ต้องการ เพื่อนำเครื่องบินไปให้บริการ ในเส้นทางที่มีศักยภาพมากกว่า

3.ควรปรับปรุงแผนบริหารจัดการฝูงบิน รวมถึง แผนการขายเครื่องบินค้าง ในปัจจุบันมีผู้สนใจเสนอราคาซื้อที่ต่ำมาก หากจะมีการตัดขายเพื่อลดเส้นทางการบินต้องจัดการในเรื่องนี้ มิเช่นนั้นจะขายขาดทุนมาก

4.ต้องปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์ ต้องหาวิธีการจัดการกับการต่อต้านของกลุ่มมาเฟียเดิม และหรือ ผู้แทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินโดยสารจำนวนหนึ่งที่เสียผลประโยชน์จากการขายบัตรโดยสารแบบ Single Price 

5.ต้องปรับปรุงการปฏิบัติงาน และต้นทุนกระบวนการทำงานด้วยดิจิทัล เทคโนโลยี เนื่องจากการทำงานที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามแผน และผู้บริหารระดับสูงไม่เข้าใจระบบการจัดการด้านนี้

6.ต้องปรับปรุงการปฏิบัติการและบริหารต้นทุนเพื่อสร้างประสิทธิภาพการทำงานของฝ่ายช่าง และปรับรูปแบบให้รองรับการดำเนินธุรกิจให้เป็นเชิงพาณิชย์ ด้วยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในฝ่ายช่างซ่อมบำรุง

7.ควรปรับปรุงการปฏิบัติการ และบริหารต้นทุนโดยออกแบบโครงสร้างการซ่อมบำรุงใหม่ให้รองรับการให้บริการเชิงพาณิชย์ของธุรกิจอุตสาหกรรมการบินในระดับสากล

8.โครงการตามกลยุทธ์ด้านการปรับปรุงการปฏิบัติการและต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพฝ่ายช่างและปรับรูปแบบให้รองรับ การดำเนินธุรกิจให้เป็นเชิงพาณิชย์ การปรับเปลี่ยนผลตอบแทนการทำงานตามระดับผลิตภาพ Pay Per Productivity ของฝ่ายช่าง

ทั้งนี้ต้องมีการปรับรูปแบบรองรับให้การทำงานฝ่ายช่างสามารถตอบสนองกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของฝ่ายช่างให้มากกว่าการซ่อมบำรุงอากาศยานของการบินไทย สายการบินไทยสมายล์ นกแอร์ และสายการบินอื่นๆ

9.ควรปรับกลยุทธ์การปฏิบัติงาน และบริหารต้นทุนของฝ่ายช่างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้ปรับรูปแบบให้สามารถรองรับการดำเนินธุรกิจให้เป็นเชิงพาณิชย์ การบริหารการเปลี่ยนแปลง และสร้างแรงจูงใจแก่บุคคลากรได้

10.ปรับปรุงการปฏิบัติการ และบริหารต้นทุนในการพัฒนาความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ 

11.ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้กระชับ รัดกุม เพื่อความคล่องตัวในการตัดสินใจ

12.ต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กรโดยเฉพาะจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับกำลังการผลิต

 13.ควรปรับกลยุทธ์ด้านการจัดกลุ่มธุรกิจของบริษัท เริ่มตั้งแต่ฝ่ายช่าง ปรับปรุงธุรกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานเชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินอู่ตะเภา

 14.จัดกลุ่มธุรกิจของบริษัทในฝ่ายช่างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์ซ่อม เครื่องบินลำตัวกว้าง 

15.จัดกลุ่มธุรกิจฝ่ายบริการภาคพื้น ปรับรูปแบบกระบวนการทำงานของพนักงานในฝ่ายภาคพื้นให้มีประสิทธิภาพ ลดไขมัน ความอุ้ยอ้าย

16.จัดกลุ่มธุรกิจฝ่ายบริการภาคพื้นโดยปรับปรุงบริการห้องรับรองพิเศษ และห้องฉุกเฉินในภาวะไม่ปกติ 

17.จัดทำกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจการพาณิชย์สินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์ 

18.จัดกลุ่มธุรกิจการพาณิชย์สินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์ใหม่ให้สามารถแจ่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 19. ศึกษาแนวทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตของ กลุ่ม Business Unit ใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

20.เพิ่มประสิทธิภาพครัวการบินเพื่อให้ผลการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในการเสริ์ฟอาหารร้อน บนเครื่องบิน

 21.ควรดำเนินการทำครัวการบินไทยให้เป็น Smart Kitchen 4.0 

22.จัดกลุ่มธุรกิจของครัวการบิน ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยว

23.ควรจัดครัวการบินไทยในสาขา สถานีต่างๆใหม่เพื่อสามารถทำกำไรให้สูง

ปัจจัยเสี่ยง 23 ข้อกับแผนฟื้นฟูการบินไทยจึงต้องแก้ไขให้ครอบคลุม ก่อนเดินหน้าใส่เงิน ใส่ทุน