นักช็อปหน้าใหม่ ค้าออนไลน์พุ่ง50%

16 พ.ค. 2563 | 01:30 น.

โควิด-19 ดันนักช็อปออนไลน์หน้าใหม่ ลาซาด้า เผย กุมภาพันธ์-พฤษภาคม ยอดซื้อครั้งแรกเพิ่มขึ้นเดือนละ 50% ออร์เดอร์พุ่ง 80% หม้อทอดไร้นํ้ามัน โน้ตบุ๊ก แท็บเลต ติดกลุ่มยอดฮิต ส่วนช้อปปี้ ระบุยอดใช้เวลาเพิ่มขึ้น 20%

หนึ่งในธุรกิจที่มีการเติบโตท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และล็อกดาวน์ คือ “อี-คอมเมิร์ซ” โดยมาตรการปิดห้าง เพื่อป้องกันการระบาดไวรัสโควิด ทำให้ร้านค้าและผู้บริโภคหันมาสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ในเวลาเดียวกันก็สร้างฐานกลุ่มนักช็อปหน้าใหม่หรือเข้ามาซื้อเป็นครั้งแรกเข้าสู่อีโคซิสเต็ม ซึ่งประสบการณ์จากการช็อปออนไลน์ของผู้บริโภครายใหม่ถือเป็นการวางรากฐานการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซในไทย

 

ออร์เดอร์พุ่งกว่า 80%

นายแจ็ค จาง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า โควิด-19 มีส่วนช่วยเร่งให้ผู้บริโภคไทยเข้าถึงบริการอี-คอมเมิร์ซรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากผู้ค้ารายใหม่บนแพลตฟอร์มลาซาด้ากว่า 1.3 แสนราย ในช่วงเวลาเพียง 3 เดือนที่ผ่านมา ยังเห็นนักช็อปหน้าใหม่จำนวนมากที่เข้ามาซื้อสินค้า และจำนวนคำสั่งซื้อที่พุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนพฤษภาคม พบว่ามีตัวเลขนักช็อปรายใหม่บนแพลตฟอร์มลาซาด้าพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50% และยอดคำสั่งซื้อ (Orders) สูงขึ้นกว่า 80% โดยกลุ่มสินค้าที่นักช็อปหน้าใหม่เลือกซื้อ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ในครัว เช่น หม้อทอดไร้น้ำมัน ฯลฯ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ และแท็บเลต ฯลฯ สินค้าสำหรับเด็ก ของเล่นและความบันเทิงต่างๆ

ด้านนางสาวสุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ช้อปปี้ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แพลตฟอร์มช้อปปี้มียอดการเข้าชม (Traffic) และการทำรายการ (Transaction) จำนวนมากในช่วงนี้ เนื่องจากผู้บริโภคหันมาช็อปปิ้งออนไลน์กันเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าของใช้จำเป็นไปจนถึงเครื่องใช้ภายในบ้าน

“แนวโน้มโดยรวมของตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทยมีการเติบโตขึ้นอยู่แล้ว โดยยอดซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มช้อปปี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์ Covid-19 อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุน แต่เราไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าส่งผลกระทบถึงโดยตรง”


 

ช็อปพักเที่ยง-ก่อนนอน

ทั้งนี้พบว่านักช็อปไทยใช้เวลาช็อปปิ้งออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉลี่ยผู้ซื้อใช้เวลาบนช้อปปี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% ต่อสัปดาห์ ในการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยจะจับจ่ายมากที่สุดในวันอังคาร สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาคนไทยนิยมช็อปปิ้งกันในช่วงต้นสัปดาห์ และช่วงเวลา 12.00 น. และ 21.00 น. ซึ่งเป็นเวลาช่วงพักกลางวัน และช่วงก่อนนอน เป็นช่วงที่นิยมมากที่สุด ขณะที่ผู้ใช้ช้อปปี้มีการเลือกชำระเงิน ผ่านทาง AirPay Wallet เพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา

โดยสินค้าที่มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ทั้งในหมวดหมู่ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องใช้ในบ้าน สินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และสินค้าเกี่ยวกับยานยนต์ โดยสินค้ายอดนิยมที่เป็นที่ต้องการมากขึ้นประกอบด้วย เจลล้างมือ ไม้ถูพื้น หูฟัง ผ้าอ้อมสำหรับเด็ก และนมพร้อมดื่ม

นักช็อปหน้าใหม่  ค้าออนไลน์พุ่ง50%

ไอทีออนไลน์โต 4 เท่า

นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจ.ไอ.บี คอมพิวเตอร์ จำกัด เชนสโตร์ไอทีภายใต้แบรนด์ “JIB” กล่าวว่า 1 เดือนที่ผ่านมาภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินและการปิดห้างสรรพสินค้า นั้นบริษัทได้บริษัทมีการปิดหน้าร้านไปจำนวน 121 สาขา อย่างไรก็ตามยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตขึ้น 4 เท่า โดย New Normal ของเชนสโตร์ไอทีหลังโควิดนั้นมองว่าออนไลน์จะเป็นช่องทางที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากตัวเลข 1 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยซื้อออนไลน์จากเจไอบี สั่งซื้อเข้ามาเป็นครั้งแรก 11,000 รายจากปกติมีลูกค้าใหม่เข้ามาซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ครั้งแรกเดือนละ 3,000 ราย

ด้านนายพลศักดิ์ อุตมะมงคล ผู้จัดการอาวุโส บริษัท จีเอฟเค ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสค่อนข้างรุนแรงโดยไตรมาสแรกติดลบ 15% และถ้านับเฉพาะเดือนมีนาคมติดลบถึง 30% โดยกระจายผลกระทบไปยังแต่ละกลุ่มสินค้ามากน้อยต่างกันไป ขณะที่ยอดขายในช่องออนไลน์พบว่า กลับมาเติบโตสวนทางกับช่องทางออฟไลน์ มีการเติบโตหวือหวาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่มีสัดส่วนไม่ถึง 10% หลังหน้าร้านปิดไป ซึ่งสถานการณ์ล่าสุด พบว่าในช่องทางรีเทลหลักทั้ง 6 รายในประเทศไทย หรือคิดเป็น 60-70% ของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทย ครอบคลุมทั้ง ทีวี เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หลังมีมาตรการล็อกดาวน์ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง 75%

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,574 วันที่ 14 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563