กรมควบคุมโรคหวั่นฝนตก ไข้เลือดออกระบาด

10 พ.ค. 2563 | 08:31 น.

กรมควบคุมโรคไม่ประมาท แม้ภาพรวมผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกน้อยกว่าปีที่ผ่านมา พร้อมแนะประชาชนรับมือพายุฤดูร้อน - ฝนตก ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านและชุมชน

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงวันที่ 10-13 พ.ค. 63 ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และหากฝนตกอาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ 


"การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่ามีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น แม้ว่าจำนวนผู้ป่วย ณ ช่วงเวลาเดียวกันปี 2563 มีน้อยกว่าปี 2562 ทั้งนี้เพราะกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าจะมีพายุฤดูร้อน ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองได้"
 

กรมควบคุมโรคหวั่นฝนตก ไข้เลือดออกระบาด

ดังนั้นกรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้มีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและในชุมชน ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ 


มาตรการดังกล่าวของกรมควบคุมโรคจะช่วยป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย


นอกจากนี้ ประชาชนสามารถป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้ โดยสวมใส่เสื้อแขนยาวและการเกงขายาว ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ เช่น DEET ใช้กลิ่นกันยุง เช่น ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่นๆ นอนในมุ้ง และหากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หน้าแดง มีผื่น มีรอยจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา เบื่ออาหาร จุกแน่นลิ้นปี่ หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


 

ขณะที่สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-5 พ.ค. 63 มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 10,938 ราย เสียชีวิต 9 ราย จากข้อมูลการกระจายของผู้ป่วย พบว่า ผู้ป่วยกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยภูมิภาคที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ  ตามลำดับ 


ส่วนกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากสุดคือ 10-14 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 5-9 ปี และอายุ 15-19 ปี  ด้านจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ ระยอง ชัยภูมิ อ่างทอง ขอนแก่น และนครราชสีมา ตามลำดับ