ก้าวที่ 48 วันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรไทย

01 พ.ค. 2563 | 12:10 น.

“อุบลศักดิ์” ดันวิสัยทัศน์ลั่นปีที่ 48 สานนโยบายเจตนารวมกลุ่มเกษตรกรไทย สร้างความมั่นคงอาชีพเกษตรยั่งยืน

วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นวัน “กลุ่มเกษตรกรไทย” ครบรอบ 48 ปี ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยก่อนหน้านี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2498 อย่างไม่เป็นทางการ เรียกว่า “กลุ่มชาวนา และหลังจากนั้นทางราชการได้ส่งเสริมให้ตั้งกลุ่มชาวนาขยายไปทั่วประเทศ โดยใช้การจดทะเบียนเป็นหลักฐาน แต่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลจนเมื่อกรมส่งเสริมการเกษตร ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2510 กลุ่มชาวนาจึงเปลี่ยนชื่อ เป็นกลุ่มเกษตรกร ทั้งนี้เพื่อให้มีความหมายกว้างขึ้น สามารถครอบคลุมอาชีพเกษตรทุกสาขา ซึ่งได้เพิ่มขยายจำนวนขึ้นตามลำดับ

ก้าวที่ 48 วันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรไทย

ในตอนแรกที่รวมกลุ่มมิได้เป็นนิติบุคคลไม่สามารถดำเนินธุรกิจการค้าได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงพยายามหาทางสนับสนุนให้มีกฎมายรับรองกลุ่มเกษตรกรให้เป็นนิติบุคคล ซึ่งได้เสนอกฎหมายนี้ให้รัฐบาลพิจารณา เมื่อปี 2504 เป็นเวลา 10 ปีเศษ รัฐบาลจึงได้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 140-141 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2515 โดยแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 ให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรโดยมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและสามารถดำเนินธุรกิจต่างๆได้ จึงถือเป็นวันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรนับจากวันนั้น

ก้าวที่ 48 วันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรไทย

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในนามที่ผมเป็นตัวแทนเกษตรกรไทยทั่วประเทศรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทยเป็นปีที่ 48  เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของสถาบันกลุ่มเกษตรกรที่ได้รวมตัวกัน และร่วมมือร่วมใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม รวมทั้งช่วยเผยแพร่กิจกรรมของกลุ่มและกิจกรรมของเกษตรกรจนประสบความสำเร็จ

ก้าวที่ 48 วันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรไทย

“ผมขอยืนยันว่าจะร่วมมือร่วมใจกับพี่น้องเกษตรกรทุกคนเพื่อดำเนินภารกิจของกลุ่มเกษตรกรก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จยิ่งขึ้น”

ก้าวที่ 48 วันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรไทย

อนึ่งปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศมี 7,384 กลุ่ม ปริมาณธุรกิจ 7,675 ล้านบาท อาทิ กลุ่มชาวนา ชาวไร่ เลี้ยงสัตว์ ประมง เลี้ยงผึ้ง เป็นต้น โดยกลุ่มเหล่านี้ต้องผ่านเกณฑ์พัฒนามาตรฐานเฉลี่ย 78% ซึ่งการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2515 ถึงปัจจุบันยังยึดหลัก 5 ข้อเพื่อช่วยเหลือสมาชิก ได้แก่ 1. บริการและส่งเสริมเกษตรกร 2. จัดซื้อปัจจัยการผลิต 3. รวบรวมผลผลิต การแปรรูป 4. จัดหาซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร และ5. สุดท้ายให้สินเชื่อและรับฝากเงิน