ค่ายรถยนต์ปรับกลยุทธ์ธุรกิจรับ New Normal

05 พ.ค. 2563 | 03:55 น.

ถือเป็นคลื่นยักษ์ระลอก 2 ต่อจากการ “ดิสรัปต์ของเทคโนโลยี” สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เชื้อโรคตัวเล็กๆแต่พิษสงร้ายแรง ไม่เพียงทุบระบบเศรษฐกิจโลก แต่ยังเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง

การดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ในช่วงโควิด-19 หรือกรณีที่หลายประเทศควบคุมสถานการณ์ได้ แต่พฤติกรรมของผู้คนจำต้องเปลี่ยนไปหลังจากนี้

 

ที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์วางแผนรับมือกับการ “ดิสรัปต์ของเทคโนโลยี” ตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า ปรับวิธีคิด หลักการทำงาน รวมถึงการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ สายการผลิต การตลาด การขาย และบริการหๆลังการขาย พร้อมๆ กับพันธมิตรคู่ค้าอย่าง ซัพพลายเออร์ ดีลเลอร์ บริษัทเอเยนซี และเปลี่ยนคู่มือการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ใหม่

 

ตั้งแต่ปี 2562 เมืองไทยได้เห็นการเปิดตัวรถยนต์ออนไลน์ ค่ายรถยนต์ต่อสายตรงถึงผู้บริโภค มากไปกว่านั้นยังเปิดรับจองรถออนไลน์ในเว็บไซต์ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง ขณะที่ “โตโยต้า” เปิดธุรกิจใหม่คือ การเช่ารถระยะยาวสำหรับลูกค้าบุคคลทั่วไป (ปกติเช่ารถระยะยาวจะเป็นรูปแบบองค์กร) ขณะที่ ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ร่วมกับดีลเลอร์ เปิดการซื้อขายรถมือ 2 ออนไลน์ (รับทุกยี่ห้อ)

ค่ายรถยนต์ปรับกลยุทธ์ธุรกิจรับ New Normal

 

สำหรับ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย โดยนายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ เปิดเผยว่า จากการใช้ชีวิตในลักษณะ “เวิร์ก ฟรอม โฮม” หรือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นในทุกๆ ส่วน โดยเฉพาะการสื่อสาร การประชุม การสร้างโอกาสทางธุรกิจ และ E-commerce จนเกิดประสบการณ์ตรง ทั้งในรูปแบบของการเป็นผู้ซื้อ ผู้บริโภคสินค้า และการทำธุรกิจออนไลน์ ขณะเดียวกันย่อมมีผลกระทบต่อวิธีการประกอบธุรกิจแบบเดิมๆ และที่สำคัญคือกระทบต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าทุกประเภทรวมถึงรถยนต์เช่นกัน

“เราคาดว่า หลังจากผ่านวิกฤตินี้ไปจะเกิด New Normal ในประเด็นของความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว ปรับวิธีการ ปรับรูปแบบ การนำเสนอสินค้าให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ ในส่วนพฤติกรรมการเลือกซื้อรถแบบใหม่ จะเป็นตัวกำหนดการปรับรูปแบบการนำเสนอข้อมูลในทุกด้านที่เชื่อมโยงกันให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคผ่านช่องทางที่เป็นทางการของแบรนด์ (Official Platform)”

 

ผู้คนจะเปิดรับการสื่อสารกับเจ้าของแบรนด์มากขึ้น ผ่าน Official Platform เพราะมีความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลจากผู้ผลิต ดังนั้น การออกแบบ Official Platform ให้มีฟังก์ชันการใช้งานและข้อมูลที่ลูกค้าสนใจอย่างครบถ้วน จะช่วยให้เกิดการตัดสินใจซื้อได้ทันที พร้อมเพิ่มช่องทางจองรถออนไลน์ SKY- BOOKING ผ่าน https://www.mazda.co.th/forms/online-booking/skybooking-list/

 

“เราสามารถนำข้อมูลที่ได้จากช่องทางนี้โดยตรง มาใช้ในการวางแผนการทำงานต่างๆ เช่น การวางแผนการผลิต การส่งมอบรถใหม่ การขออนุมัติสินเชื่อ และการบริการหลังการขายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และนี่คือการตอบสนองพฤติกรรมการซื้อรถรูปแบบใหม่” นายธีร์ กล่าว

 

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า NEW NORMAL ที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเทรนด์ของโลกอยู่แล้ว สำหรับเอ็มจี ยึดแกนหลัก 4 ข้อ เพื่อรับกับเทรนด์ดังกล่าวไม่ว่าจะเป็น

 

1.การพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ (New Energy) อาทิ เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า เอ็มจี แซดเอส อีวี 2.การพัฒนาเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตระบบการเชื่อมต่อภายในรถยนต์ หรือคอนเนคติวิตี (Internet of Thing ) อย่าง i-SMART ข้อที่ 3.เป็นเทรนด์ในอนาคตอย่างการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับหรือรถให้มีความเป็นอัจฉริยะ (Intelligent) และ 4.การแบ่งปันรถยนต์ในการใช้งาน (Car Sharing)

 

“ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์มองว่าเทรนด์ต่างๆ จะมาเร็วขึ้น ทุกคนต้องมีการปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยเชื่อว่าหลังจากนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยน อาทิ ดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น มีความระมัดระวังเมื่อออกไปนอกบ้าน ส่วนการเดินทางต่างๆ โดยรถขนส่งมวลชนยังมีความจำเป็น แต่ทิศทางของรถยนต์ไฟฟ้าก็จะมาเร็วขึ้นเพราะผู้บริโภคตระหนักว่าในช่วงโควิด-19 ที่กักตัวหรืออยู่กับบ้านนั้นสิ่งแวดล้อมดีขึ้น”

 

นอกจากนั้นแล้ว เทรนด์ของคอนเนคติวิตี หรือระบบการเชื่อมต่อภายในรถยนต์ต่างๆ และคาร์แชริ่งจะตามมาติดๆ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคมีประสบการณ์ทำงานที่บ้าน เวิร์ค ฟรอม โฮม หรือช็อปปิ้งออนไลน์ มีการใช้งานต่างๆ ผ่านมือถือผ่านแอพพลิเคชันส่วนคาร์แชริ่งนั้น เกิดจากพฤติกรรมของลูกค้าที่มองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเจ้าของรถอีกต่อไป หากจะใช้รถก็จะเลือกใช้บริการคาร์แชริ่งแทน

 

ค่ายรถยนต์ปรับกลยุทธ์ธุรกิจรับ New Normal

 

ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 อาจจะยังประเมินไม่ได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร แต่หลังจากคลี่คลายเชื่อว่าจะได้เห็นNew Normal อย่างจริงจังในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งบริษัทมองว่าโควิด -19 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นชั่วคราว มีแล้วก็หายไป ส่วนแผนงานที่วางไว้ เตรียมกันเป็นรายปี ไม่ใช่รายเดือน ดังนั้นทุกอย่างยังเดินหน้าต่อไป

 

“อีกหนึ่งแผนงานที่เดินหน้าต่อเนื่องคือการเปิดตัวโชว์รูมและศูนย์บริการ ที่ปัจจุบันมี 128 แห่ง ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้จะเพิ่มอีก 10 แห่ง ขณะเดียวกันก็รอความชัดเจนของภาครัฐเกี่ยวกับเคาะค่าไฟ ที่แม้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติจะได้ข้อสรุป แต่เนื่องจากยังไม่ได้ประกาศออกมา ทำให้บริษัทและพันธมิตรยังคงต้องรอ ซึ่งหากทุกอย่างประกาศออกมาก็พร้อมติดตั้งจุดชาร์จไฟที่โชว์รูม-ศูนย์บริการ ตามที่ได้วางแผนไว้” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

 

ทั้งหมดเป็นแผนงานของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้กำหนดแนวทางเอาไว้ล่วงหน้า ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แม้จะมีวิกฤติโควิด-19 หรือไม่ก็ตาม เพียงแต่ไวรัสตัวนี้กระตุ้นให้ผู้คนและองค์กรตื่นตัวกับNew Normal มากขึ้น 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,571 วันที่ 3 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563