เปิดรายงานคปร.ไขปมตัดงบ "บัตรทอง"บรรจุบุคลากรการแพทย์

26 เม.ย. 2563 | 04:10 น.

​​​​​​​เปิดรายงานการประชุม คปร.ไขข้อสงสัยตัดงบบัตรทอง สปสช. โปะเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์บรรจุใหม่ ปีงบ 63 เหตุลดความซ้ำซ้อนค่าใช้จ่ายงบประมาณ

การปรับลดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) หรือบัตรทอง จำนวน 2,400 ล้านบาท ที่หลายคนกังวลว่าจะกระทบกับสิทธิการดูแลประชาชนนั้น จากการตรวจสอบของ"ฐานเศรษฐกิจ"จากรายงานการประชุมคณะกรรมการกําหนดเป้าหมายและนโยบายกําลังคนภาครัฐ (คปร.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ที่ผ่านมาพบว่าการปรับลดงบประมาณดังกล่าวเพื่อลดความซ้ำซ้อนการใช้จ่ายงบประมาณค่าใช้จ่ายบุคลากรระหว่างสปสช.กับกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ รองเลขาธิการ ก.พ. ในฐานะกรรมการและเลขานุการร่วม คณะกรรมการกําหนดเป้าหมายและนโยบายกําลังคนภาครัฐ (คปร.) ได้สรุปผลการประชุม คปร.ครั้งที่ 1/2563 วันที่ 9 เมษายน 2563 วาระที่  เรื่องเพื่อพิจารณา เรื่องการขอเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสําหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข รองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

คปร. ได้พิจารณาการขอเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น สําหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข รองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 ตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการร่วม คปร.

ประกอบกับ ได้เชิญผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (นายสุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นายสรรเสริญ นามพรหม ผู้อํานวยการกองบริหารทรัพยากรบุคคล สํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวง สาธารณสุข) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนธนาคารกรุงไทย จํากัด มหาชน (นางวันดี ศรีมณฑล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่) และผู้แทนธนาคารออมสิน (นายสุภาวุฒิ ดาระอินทร์ ผู้ช่วยผู้อํานวยการ) เพื่อร่วมชี้แจงและให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา โดยสรุปสาระสําคัญได้ ดังนี้

นายสุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า การขอเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ของกระทรวง สาธารณสุข จํานวน 38,105 อัตรา เป็นการเปลี่ยนสถานะการจ้างงานของบุคลากรจากพนักงาน กระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว หรือพนักงานราชการ มาเป็นข้าราชการ และในกลุ่ม บุคลากรดังกล่าวประมาณร้อยละ 25 เป็นตําแหน่งที่กําหนดวุฒิที่ต้องสอบแข่งขัน

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอขอให้ยกเว้นการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ในตําแหน่งที่ได้รับจัดสรรดังกล่าวด้วย เพื่อให้สามารถคัดเลือกบุคคลที่ปฏิบัติงานโดยตรงได้ แบบเฉพาะเจาะจง อาทิ ตําแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้ ความชํานาญงานด้านการป้องกันการระบาดของโรค มีบทบาทในการประสานงาน ติดตาม ตรวจสอบบุคคลในพื้นที่ ตลอดจนเป็นกําลังสําคัญที่จะรองรับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ระดับปฐมภูมิในอนาคต เพื่อให้สัมพันธ์กับการยุบเลิกตําแหน่งตามกรอบอัตรากําลังด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบแนวทางที่สํานักงาน ก.พ. เสนอเกี่ยวกับ การกําหนดให้ทยอยบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ โดยจัดแบ่งตามกลุ่มผู้ปฏิบัติงานออกเป็น 3 ระยะ รวมทั้งเงื่อนไขการยุบเลิกตําแหน่งพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราว ตามจํานวนที่ได้รับการบรรจุ โดยยืนยันว่าจะไม่จ้างหรือบรรจุบุคลากรดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เกิดกรอบอัตรากําลังซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ สําหรับเงินงบประมาณที่เคยใช้สําหรับจ้างบุคลากรดังกล่าวนั้น เป็นเงินเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับจากสํานักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้รับอนุมัติอัตราข้าราชการเพิ่มขึ้น การจัดสรรเงินจาก สปสช. ก็จะปรับลด จํานวนเงินลง เพราะจะต้องนําอัตราเงินเดือนของข้าราชการที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการมาหักออกก่อน

โดยหลักการจึงถือเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีผลต่อการปรับลดกรอบอัตรากําลังพนักงาน กระทรวงสาธารณสุขหรือลูกจ้างชั่วคราวด้วย และในอนาคตหากภารกิจเปลี่ยนแปลงไปจะต้องขอ เปลี่ยนแปลงการจ้างก็ต้องได้รับความเห็นชอบกรอบอัตรากําลังจากกรมบัญชีกลางก่อน

นอกจากนี้ เงินบํารุงที่ได้รับส่วนใหญ่จะนํามาใช้ในการบริหารจัดการ ค่ายา ค่าเครื่องมือต่าง ๆ ในการรักษา รวมทั้งค่าเวร ค่าล่วงเวลา (OT) ของบุคลากร ทั้งนี้ จะรายงานผลการดําเนินการดังกล่าวให้ คปร. ทราบด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขที่จะเปลี่ยนสถานภาพ ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการโดยเร็ว และไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินในปัจจุบันมากนัก กระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันว่า ยินดีสนับสนุนให้โอนเงินงบประมาณเหลือจ่ายและ เงินรายได้ของกระทรวงสาธารณสุขคืนคลัง เพื่อใช้สําหรับบรรจุบุคลากรในระยะแรกวงเงิน ประมาณการจํานวน 4,000 ล้านบาท โดยจะขอรับไปตรวจสอบสถานการณ์ทางการเงินก่อน และจะดําเนินการตามแนวทางที่สํานักงบประมาณและกระทรวงการคลังกําหนดต่อไป

สําหรับการขอรับจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุนักศึกษาวิชา เภสัชศาสตร์ที่เป็นนักศึกษาคู่สัญญาของกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบตามความเห็นของ คปร. โดยให้บรรจุเป็นพนักงานราชการแทนการบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งจะสอดคล้องกับมติ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 และจะขอรับ ไปพิจารณาในภาพรวมอีกครั้งหนึ่ง

หลังจาก คปร. รับฟังการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว ได้อภิปรายให้ความเห็นและ ข้อสังเกต ดังนี้ 

1.การขอยกเว้นให้บรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตําแหน่งที่ ก.พ. ไม่ได้กําหนดเป็น วุฒิคัดเลือกได้ทันทีโดยไม่ต้องดําเนินการสอบแข่งขัน นอกจากจะทําให้เกิดความลักลั่นกับ ผู้ปฏิบัติงานในตําแหน่งเดียวกันภายในกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน การสรรหาบุคคลเข้ารับราชการตามกฎหมายที่ได้ดําเนินการมาโดยตลอด อีกทั้งอาจจะเป็นต้นแบบ ที่จะนําไปใช้กับส่วนราชการอื่น

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 อาจถือได้ว่าเป็นเหตุพิเศษที่จะใช้มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่กําหนดให้ผู้มีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 อาจคัดเลือกบรรจุ บุคคลเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่ง โดยไม่ต้องดําเนินการสอบแข่งขันตามมาตรา 53 ได้ ดังนั้น จึงเห็นควรให้สํานักงาน ก.พ. หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดําเนินการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการให้สอดคล้องกับข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องต่อไป

2.การบรรจุบุคลากรที่เปลี่ยนสถานะการจ้างงานเป็นข้าราชการ ให้ดําเนินการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กําหนด ทั้งการให้ได้รับเงินเดือน การนับระยะเวลาราชการ เพื่อประโยชน์ในการเลื่อนระดับตําแหน่ง แต่ไม่รวมถึงการนับระยะเวลาเพื่อการคํานวณบําเหน็จบํานาญ เนื่องจากการนับระยะเวลาราชการเพื่อจ่ายบําเหน็จบํานาญหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดตามกฎหมายกําหนด ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่บุคคลได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการ โดยต้องได้รับเงินเดือน จากเงินงบประมาณแผ่นดิน

นอกจากนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขนําเงินนอกงบประมาณไปใช้ เพื่อจ่ายเงินเดือนในระหว่างที่บรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ก็จะไม่สามารถนับระยะเวลาราชการ เพื่อการคํานวณบําเหน็จบํานาญได้ อีกทั้งอาจจะเกิดปัญหาข้อร้องเรียนภายหลังได้ เว้นแต่จะชะลอ การบรรจุให้เริ่มต้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (วันที่ 1 ตุลาคม 2563) เป็นต้นไป เพื่อให้สามารถ ใช้เงินจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้ หรือลดจํานวนที่จะบรรจุในระยะแรก (เดือนพฤษภาคม และเดือนสิงหาคม 2563) หรือนําเงินรายได้โอนมาใช้ไปพลางก่อน

ทั้งนี้ เนื่องจากเงินงบกลาง จําเป็นต้องนําไปใช้ในภารกิจสําคัญอื่นจึงอาจมีไม่เพียงพอเพื่อจัดสรรในการนี้

ดังนั้น เพื่อให้ การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการดังกล่าวไม่กระทบต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณในภาพรวม จึงเห็นควร ให้สํานักงบประมาณรับข้อสังเกตไปดําเนินการเกี่ยวกับการโอนเงินงบประมาณเหลือจ่าย หรือเงินรายได้ ของกระทรวงสาธารณสุขไปกําหนดเป็นงบประมาณรายจ่ายเงินงบกลาง โดยเพิ่มเติมรายละเอียด ไว้ในพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณให้ครอบคลุมเรื่องดังกล่าวไว้ด้วย

3.การพิจารณาอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุนักศึกษาผู้สําเร็จการศึกษา ควรคํานึงถึงความสอดคล้องกับแผนปฏิรูปกําลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวง สาธารณสุข นอกจากนี้ เห็นควรให้นําอัตรากําลังตําแหน่งนายแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ที่ได้รับอนุมัติจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุผู้ปฏิบัติงานให้บริการในสถานการณ์ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มารวมเป็นส่วนหนึ่งของอัตรากําลังที่ คปร. จะจัดสรรให้ กระทรวงสาธารณสุขตามเป้าหมายที่กําหนดไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ของแผนปฏิรูป กําลังคนๆ

สําหรับคําขอตําแหน่งเภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ และนักวิชาการสาธารณสุข ที่เหลืออีก จํานวน 4,787 อัตรา เห็นควรให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาทบทวนเหตุผลความจําเป็นของ ภารกิจ และความสอดคล้องกับการดําเนินการตามแผนปฏิรูปกําลังคนฯ อีกครั้งหนึ่ง หากมีความจําเป็น ให้จัดทํารายละเอียดเสนอ คปร. ในโอกาสต่อไป

4.เพื่อให้การศึกษาและพัฒนารูปแบบการจ้างงานใหม่มีความสอดคล้องกับ สถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ตามแผนปฏิรูปกําลังคนและภารกิจบริการด้านสาธารณสุขในภาพรวมของประเทศ จึงเห็นควรให้มี ผู้แทนของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นคณะทํางานตามข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. ด้วย

มติ คปร.

1.การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวง สาธารณสุข (พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราว) ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จํานวน 24 สายงาน รวมทั้งสิ้น 38,105 อัตรา

1.1เห็นชอบให้จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ รวม 38,105  อัตรา เพื่อบรรจุ บุคคลดังกล่าวเข้ารับราชการให้ตรงตามตําแหน่งงานที่จ้างอยู่เดิม อย่างไรก็ดี หากภายหลังบริบท ของงานเปลี่ยนแปลงไป ให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข ปรับเปลี่ยนสายงาน ของอัตราข้าราชการตั้งใหม่ที่จะจัดสรรเป็นสายงานบริการทางการแพทย์อื่น ๆ ได้ตามความจําเป็น

แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจํานวนกรอบอัตรากําลังตามที่ คปร. กําหนด และจะต้องสอดคล้องกับ แผนปฏิรูปกําลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้บรรจุในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ที่มีวุฒิคัดเลือกก่อนกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่จะต้องสอบแข่งขัน และถือว่าอัตราข้าราชการตั้งใหม่ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการบรรจุบุคลากรตามแผนปฏิรูปกําลังคนฯ ด้วย

1.2 เห็นชอบให้กําหนดเงื่อนไขว่าเมื่อบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขได้รับ การบรรจุเข้ารับราชการในตําแหน่งที่ได้รับจัดสรรแล้ว ให้ยุบเลิกตําแหน่งพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราวตามจํานวนที่ได้บรรจุบุคคลเข้ารับราชการ และให้กระทรวงสาธารณสุขปรับรูปแบบการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขโดยเน้นเฉพาะการจ้างงาน สนับสนุนทั่วไปเท่านั้น และให้กระทรวงสาธารณสุขรายงานผลการดําเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนสายงาน การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ตลอดจนการยุบเลิกตําแหน่งที่จ้างงานด้วยรูปแบบอื่นให้ คปร. ทราบด้วย

1.3 เห็นชอบให้ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข แบ่งการกําหนดตําแหน่งอัตรา ข้าราชการตั้งใหม่เป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ให้กําหนดตําแหน่งเพื่อรองรับการบรรจุกลุ่มบุคลากรที่ให้บริการ ในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยตรง รวม 25,051 อัตรา ภายในเดือน พฤษภาคม 2563

ระยะที่ 2 ให้กําหนดตําแหน่งเพื่อรองรับการบรรจุกลุ่มบุคลากรที่สนับสนุน การให้บริการในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวม 5,616 อัตรา ตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นไป

ระยะที่ 3 ให้กําหนดตําแหน่งเพื่อรองรับการบรรจุกลุ่มบุคลากรที่ให้บริการ หรือสนับสนุนการให้บริการในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ปฏิบัติงาน ในพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบลหรือสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ รวม 7,438 อัตรา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดําเนินการ โอนเงินงบประมาณเหลือจ่ายประจําปีและเงินนอกงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งจ่าย เป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนของบุคลากรที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการดังกล่าวตามจํานวน วงเงินงบประมาณงบบุคลากรที่จะใช้ เพื่อลดการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเงินงบกลาง ตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อที่ประชุม

2. การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุนักศึกษาผู้สําเร็จการศึกษา ในปี พ.ศ. 2563 จํานวน 5 สายงาน รวมทั้งสิ้น 7,579 อัตรา

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดบริการสาธารณสุขและรูปแบบการจ้างงานใหม่ เห็นชอบให้สํานักงาน ก.พ. ร่วมกับกระทรวงการคลัง สํานักงบประมาณ สํานักงาน ก.พ.ร. สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศึกษาและพัฒนารูปแบบการจ้างงานใหม่ให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต เพื่อให้สามารถนํารูปแบบการจ้างงานใหม่ไปใช้กับส่วนราชการ เพื่อทดแทนหรือเสริมการใช้กําลังคนภาครัฐเพิ่มเติมจากรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันแทนการขอรับ การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มคําขอเข้ามาเป็นจํานวนมาก หากผล การศึกษาเป็นประการใดให้นําเสนอ คปร. พิจารณาในโอกาสแรก

สําหรับข้อเสนอการจัดบริการสาธารณสุขตามแผนปฏิรูปกําลังคนฯ ในส่วนของ มาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกําลังคนด้านสุขภาพเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ของระบบสุขภาพ เห็นควรให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปดําเนินการพร้อมกับการจ้างงานรูปแบบใหม่ โดยไม่ต้องนําเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ ให้รับข้อสังเกตของกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับแผนพัฒนากําลังคนทางการแพทย์และ การบริการสาธารณสุขของประเทศทั้งระบบด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ปลัดสธ."ยันรัฐไม่ได้ตัดงบ"บัตรทอง" แถมอนุมัติงบกลางเพิ่มให้ 3 พันลบ.