"คาร์แชริ่ง" ดิ้นสู้โควิด

25 เม.ย. 2563 | 09:40 น.

โควิด-19 พ่นพิษธุรกิจ “คาร์แชริ่ง” ลูกค้าหาย 70% “ไดร์ฟเมท” หันเจาะกลุ่มรถเช่ารายเดือน พร้อมศึกษาช่องทางดิลิเวอรีที่กำลังเติบโต ด้าน “ฮ้อปคาร์” อัดโปรลดราคา และคิดอัตราตามการใช้งานจริง 79 บาท/ ชั่วโมง

ผลจากโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ปัจจุบันยังไม่สามารถ หาวัคซีนรักษาโรคนี้ได้ ทำให้ภาพรวมทั้งของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ไม่เว้นแม้แต่คาร์แชริ่งที่เป็นธุรกิจน้องใหม่ ที่คาดว่าจะเป็นเทรนด์ ที่ได้รับความนิยมในอนาคต แต่เมื่อมาเจอกับโควิด-19 เข้าไปก็มีอันสะดุดและต้องปรับแผนกันยกใหญ่ เริ่มที่ “ไดร์ฟเมท” ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มคาร์แชริ่ง, รถเช่า

“ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจมีการเติบโต 3 เท่ามาโดยตลอด แต่นับตั้งแต่มกราคม-มีนาคม แม้จะยังมีลูกค้าเข้ามารับบริการบ้างแต่พอถึงเดือนเมษายนลูกค้าหายไปประมาณ 60-70 % และคาดว่าหลังจากนี้หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย สัดส่วนลูกค้าที่หายไปก็น่าจะอยู่ที่ระดับนี้ ดังนั้นเราจึงปรับแผนงานและเป้าหมายรายได้กันใหม่ เนื่องจากปัจจุบันรายได้ของเราคือการกินส่วนแบ่งค่าคอมมิสชันจากการให้บริการรถให้เช่า“นายศิลป์รัฐ สุขวัฒนศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดร์ฟเมท จำกัด กล่าว

"คาร์แชริ่ง" ดิ้นสู้โควิด

สำหรับไดร์ฟเมท ได้ริเริ่มธุรกิจในปี 2560 โดยให้บริการคาร์แชริ่ง, เช่ารถผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แอพพลิเคชัน โดยมีรูปแบบให้เช่าทั้งแบบรายวัน รายเดือน ผ่านเครือข่าย 35 แห่งทั่วประเทศ และมีรถยนต์ที่ให้บริการจำนวน 3,500 คัน มีทั้งรถยนต์นั่งทั่วไป, รถอเนกประสงค์, รถหรู ซึ่งรถยนต์ทุกคันนำมาจากพันธมิตร ทั้งที่เป็นบริษัทรถเช่า, ลูกค้าบุคคลทั่วไป ล่าสุดจับมือกับบีเอ็มดับเบิลยูลีสซิ่งในการนำ BMW รุ่น X1 จำนวน 10 คัน มาให้บริการ

 

“รถทั้งหมดที่นำมาให้บริการนั้น 45% เป็นรถจากบุคคลทั่วไปที่นำมาปล่อยให้เช่าผ่านทางไดร์ฟเมท, อีก 45% มาจากพาร์ตเนอร์บริษัทรถเช่ารายเล็ก รายย่อย เอสเอ็มอี และอีก 10% เป็นบริษัทรถเช่ารายใหญ่ ส่วนราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 399 บาทต่อวัน สำหรับรถยนต์นั่งทั่วไป และสูงสุดที่เคยปล่อยให้บริการคือ 1 แสนบาทต่อวัน โดยเป็นรถโรลส์-รอยซ์”

แผนธุรกิจที่จะปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ คือ จากเดิมเน้นปล่อยให้เช่าระยะสั้น (รายวัน) ก็หันมาเพิ่มระยะยาว (รายเดือน) ปัจจุบันลูกค้าระยะยาว มีแค่ 10% และระยะสั้น 90% แต่หลังจากนี้สัดส่วนจะกลายเป็น 50 : 50 และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ตลาดระยะยาวเกิดเราจึงนำบีเอ็มดับเบิลยู X1 พร้อมราคาพิเศษ 34,999 บาทต่อเดือน รวมไปถึงให้บริการดิลิเวอรี เนื่องจากธุรกิจส่งอาหาร หรือ ธุรกิจออนดีมานด์ต่างๆ เติบโตมาก

“โควิด-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพราะผู้บริโภคไม่เดินทาง ส่งผลให้ยอดจองรถหายไปดังนั้นจึงตัดสินใจรุกธุรกิจรถเช่าในระยะยาวมากขึ้น และเราจะเข้าไปในธุรกิจดิลิเวอรีที่กำลังเติบโต โดยจะนำรถยนต์เข้าไปเจาะตลาดตรงนี้ ที่แม้ต้นทุนจะสูงกว่ามอเตอร์ไซค์ แต่เราจะนำเสนอความคุ้มค่าที่ให้มากกว่า”

นายศิลป์รัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า รายได้ในปีแรกของบริษัททำได้ 2.5 ล้านบาท ปีที่ 2 ทำได้ 8 ล้านบาท และปีที่ 3 ทำได้ 16 ล้านบาท และในปีนี้เดิมตั้งเป้าไว้ 40 ล้านบาท แต่เนื่องจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตอนนี้ทำให้ต้องประเมินกันใหม่ และปรับลดลงมาเป็น 25 ล้านบาท

ขณะที่ผู้เล่นอีกหนึ่งราย “ฮ้อปคาร์” คาร์แชริ่งเจ้าแรกของไทย ที่มีจุดเด่น คือสามารถจองรถได้ 24 ชั่วโมง สามารถยืมรถจากจุดหนึ่งและคืนจุดอื่นได้ โดยไม่จำเป็นต้องกลับไปที่จุดเดิม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มลูกค้าให้การตอบรับที่ดี จากจุดเริ่มต้นที่มีรถแค่เพียง 2 คัน ปัจจุบันมีมากกว่า 300 คัน

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทำให้เตรียมขยับแผนเพื่อรับโควิด -19 โดยต้นเดือนพฤษภาคม จะเปิดตัวบริการใหม่ ขณะที่แผนงานรุกในขณะนี้ใช้โปรโมชันเป็นแนวรุกอาทิ ทดลองฟรี 3 ชั่วโมง, บุคลากรทางการแพทย์ เช่านิสสัน อัลเมร่า 15 วันฟรี 15 วัน จากราคาปกติ 1.5 หมื่นบาท ลดเหลือ 7,000 บาท

นอกจากนั้นแล้ว ในกลุ่มที่เป็นองค์กร หรือ หน่วยงานต่างๆ ไม่ต้องจ่ายรายเดือน แต่จ่ายตามการใช้งานจริง มีราคาพิเศษ อาทิ 79 บาทต่อชั่วโมง สำหรับโตโยต้า วีออส หรือ 639 บาทต่อวัน และส่วนลดเพิ่มอีก 10% ถือเป็นการขยับปรับตัวของสตาร์ตอัพแบรนด์ไทยในธุรกิจคาร์แชริ่ง

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ วิเคราะห์ว่า แนวคิดเรื่องคาร์แชริ่งอาจเปลี่ยนไปหลังจากโควิด -19 คลี่คลาย เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนหนึ่งอาจจะไม่อยากร่วมโดยสารในรถขนส่งสาธารณะ ส่งผลให้ความต้องการรถยนต์ส่วนตัวมีเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่ายรถยนต์ต่างๆกำลังมุ่งมั่นพัฒนา ACES หรือ Autonomous ,Connectivity,Electronic และ Sharing ซึ่งถือเป็นเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต 

หน้า16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,568 วันที่ 23 - 25 เมษายน พ.ศ. 2563