ตรวจสต๊อกข้าวโลกช่วงโควิด จีนตุนมากสุดพร้อมเทขาย

19 เม.ย. 2563 | 03:50 น.

 

รศ.สมพร  อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ได้เขียนบทความเรื่อง สถานการณ์ตลาดข้าวโลกเมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 ความตอนหนึ่งว่า

 

ในสถานการณ์ที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มมีการระบาดจากประเทศจีน เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2562 ที่ ผ่านมา และขณะนี้ได้แพร่กระจายไปในวงกว้างทุกภูมิภาคของโลกและมีผู้ติดเชื้อและผู้ล้มตายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับภัยแล้งที่เกิดกับประเทศของผู้ส่งออกข้าวสำคัญหลายประเทศในปีที่ผ่านมา กำลังสร้างความตื่นกลัวที่เชื่อมโยงไปถึงภาวะการขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะประเทศที่ประชากรบริโภคข้าวเป็นอาหารจานหลักและมีการผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอต่างก็เตรียมสำรองข้าวให้มากขึ้นเพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินและปกป้องภาวะการขาดแคลนอาหารของประชากรในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการรักษาเสถียรภาพของราคาอาหารไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นปัญหาทางสังคมตามมา ทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวหลายประเทศจำเป็นต้องเพิ่มคำสั่งซื้อจากตลาดการค้าข้าวเพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้

ตรวจสต๊อกข้าวโลกช่วงโควิด จีนตุนมากสุดพร้อมเทขาย

ในส่วนของประเทศที่มีอุปทานข้าวส่วนเกินจากความต้องการใช้ภายในประเทศและมีอัตราการพึ่งพิงตนเองด้าน สินค้าข้าวได้สูง ซึ่งได้แก่ประเทศผู้ส่งออกข้าวเดิม อย่างเช่น อินเดีย ไทย เวียดนาม และปากีสถาน รวมถึงประเทศในตลาดข้าวเกิดใหม่ เช่น เมียนมา และกัมพูชา เป็นต้น ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินหรือให้ระงับการเคลื่อนย้าย (lock down) ทำให้โซ่อุปทานการส่งออกหยุดชะงักหรือเกิดภาวะตึงตัวของอุปทานส่งออก เมื่อผนวกกับความตื่นตระหนกของประชากรภายในประเทศได้นำไปสู่การกักตุนอาหารภายในครัวเรือน อุปสงค์ของความต้องการในครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะหนึ่ง ได้กดดันระดับราคาข้าวภายในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน ทำให้หลายประเทศต่างเร่งสำรวจสต๊อกเพื่อการกันสำรองไว้ให้เพียงพอกับภาวะฉุกเฉินด้านอาหารภายในประเทศของตน เช่น เวียดนาม ได้มีมาตรการของรัฐให้ผู้ประกอบการค้าข้าวชะลอรับคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้าเพื่อการสำรวจปริมาณสต๊อกข้าว

 

ส่วนอินเดียนั้นผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบจากการมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายผู้คน เพื่อป้องกันการระบาด ของโรคโควิด-19 และต้องชะลอการรับคำสั่งซื้อเพราะมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาวะชะงักในโซ่อุปทานการส่งออกสินค้าข้าวตามมา

ตรวจสต๊อกข้าวโลกช่วงโควิด จีนตุนมากสุดพร้อมเทขาย

 

สต๊อกข้าวโลกกับความสามารถรองรับการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดการค้าข้าว

กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา(USDA) ได้รายงานว่าในปี 2562 โลกมีสต๊อกข้าวโดยรวมจำนวน 175.32 ล้านตัน ซึ่งได้สะสมสูงขึ้นกว่าเมื่อครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 25 ในจำนวนนี้ประเทศจีนที่มีประชากรมากที่สุดในโลกมีปริมาณสต๊อกข้าวปริมาณ 115 ล้านตัน หรือร้อยละ 65.60 ของปริมาณสต๊อกข้าวโลก และจีนได้มีการสะสมสต๊อกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบเท่าตัวในครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา อันเป็นผลจากนโยบายการจัดซื้อข้าวในระดับราคาสูงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

ตรวจสต๊อกข้าวโลกช่วงโควิด จีนตุนมากสุดพร้อมเทขาย

ในส่วนของอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก มีการสะสมสต๊อกอยู่ประมาณ 29.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.75 ของปริมาณความต้องการข้าวภายในประเทศ อีกทั้งมีความสามารถในการพึ่งพิงตนเองด้านข้าวในระดับสูง ได้มีการระบายสต๊อกข้าวจากโครงการพยุงราคาของภาครัฐสู่ตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในระดับราคาที่ต่ำ การมีสต๊อกจำนวนน้อยของอินเดียเมื่อเทียบกับจีน ไม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญสู่มาตรการการระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย

 

ในกรณีของเวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกลำดับ 3 ของโลก(รองจากอินเดีย และไทย) พบว่ามีการสะสมสต๊อกประมาณ 0.67 ล้านตัน แม้จะมีจำนวนน้อยแต่การปลูกข้าวในเวียดนามสามารถเพาะปลูกได้มากกว่าสองครั้งในรอบปีในหลายพื้นที่ ทำให้แรงกดดันต่อความไม่มั่นคงด้านอาหารจานหลักของเวียดนามมีในช่วงสั้น ๆ จากความมีจำกัดของปริมาณสต๊อก อย่างไรก็ตาม เวียดนามสามารถที่จะดำเนินการผลิตได้เป็นปกติเมื่อฤดูฝนมาถึง

 

ส่วนไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 3 รองจากอินเดีย มีปริมาณสต๊อกข้าวประมาณ 4.24 ล้านตัน ไทยเคยมีสต๊อกข้าวจำนวนมากจากโครงการรับจำนำราคาสูงในช่วงปี 2554-2557 และขณะนี้ได้ระบายสต๊อกจากโครงการรับจำนำไปเกือบหมดแล้ว ปริมาณสต๊อกข้าวที่มีอยู่จึงเป็นสต๊อกข้าวในมือของเอกชนเป็นสำคัญและมีปริมาณสต๊อกในประเทศมากพอที่จะยังคงสนับสนุนให้กลไกการส่งออกข้าวสู่ตลาดต่างประเทศไม่หยุดชะงัก ขณะเดียวก็จะไม่ทำให้ระดับราคาในประเทศขาดเสถียรภาพ

 สำหรับประเทศอินโดนิเชีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนสต๊อกข้าวประมาณ 3.4 และ 3.5 ล้านตัน ตามลำดับ ซึ่งสถานการการระบาดของโรคโควิด-19 อาจต้องทำให้ประเทศทั้งสองมีการนำเข้าข้าวเพื่อการสำรองในยามฉุกเฉินมากขึ้น

 

ดังนั้น ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลกอยู่ในขณะนี้ประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารด้านข้าวในระดับสูงในเอเชีย เช่น ไทย อินเดีย รวมถึงเมียนมาและเวียดนาม จะยังมีอุปทานส่วนเกินที่จะป้อนสู่ตลาดส่งออกข้าวทำให้อุปทานการส่งออกข้าวไม่ถึงกับหยุดชะงัก นอกจากนี้การมีสต๊อกข้าวจำนวนมากของจีนหรือประมาณร้อยละ 80.58 ของปริมาณการบริโภคข้าวในประเทศจะเอื้อให้จีนสามารถระบายสต๊อกข้าวเพื่อเพิ่มอุปทานในตลาดการค้าข้าวได้ตลอดเวลาหากราคาในตลาดการค้าข้าวโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก และลดแรงกดดันต่อตลาดการค้าข้าวโลกอันเนื่องจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของอุปสงค์การนำเข้าข้าวของบางประเทศ

ตรวจสต๊อกข้าวโลกช่วงโควิด จีนตุนมากสุดพร้อมเทขาย

รศ.สมพรได้สรุปว่า ตลาดการค้าข้าวโลกเป็นตลาดที่จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ผนวกกับปัจจัยด้านภัยแล้ง ได้ส่งผลให้ระดับราคาข้าวได้ปรับตัวสูงขึ้นนับแต่ปลายเดือนธันวาคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (8 เม.ย.) ระดับราคาข้าวสารเจ้า 100% 5% และ และ 25% ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วถึงเกือบร้อยละ 20 รวมถึงราคาข้าวหอมปทุมธานีที่เป็นสินค้าทดแทนกับข้าวหอมมะลิ แต่สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นการปรับตัวของระดับราคาเนื่องจากภาวะตลาดข้าวตึงตัวในระยะสั้น ๆ อันเนื่องมาจากภาวะการชะลอตัวของอุปทานส่งออกข้าวจากมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายและมาตรการหยุดรับคำสั่งซื้อชั่วคราวของบางประเทศ ผนวกกับการขยายตัวของอุปสงค์การนำเข้าของบางประเทศเพื่อการสำรองข้าวไว้ในภาวะฉุกเฉินและการสร้างเสถียรภาพด้าน ราคาภายในประเทศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะคลี่คลายลงเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้

 

นอกจากนี้การสะสมสต๊อกในจำนวนมากของโลกและของจีนจะทำให้วิกฤติข้าวแพงไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะเมื่อระดับราคาข้าวปรับตัวสูงมากขึ้นจีนซึ่งเป็นผู้สะสมสต๊อกรายใหญ่ของโลกจะระบายข้าวจากสต๊อกเพิ่มสูงขึ้น และจะช่วยผ่อนคลายความตึงตัวของตลาดการค้าข้าวโลกตามมาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ข้าวเป็นพืชอายุสั้นโดยเฉพาะข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงซึ่งมีช่วงจากปลูกถึงเก็บเกี่ยว ในช่วง 3 ถีง 4 เดือนระดับราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้เกิดการสนองตอบทางด้านอุปทานและการขยายตัวของผลผลิตตามมา