แล้งทุบเกษตร ข้าว-มันหาย12ล้านตัน

17 เม.ย. 2563 | 08:00 น.

แล้งลาม ทุบผลผลิตสินค้าเกษตรวูบหนัก ข้าว มัน สับปะรด ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อนร้องระงม ผลผลิตไม่พอป้อนรง.แปรรูปส่งออก ดันต้นทุนพุ่ง สรท.จี้รัฐประกาศเป็นภัยพิบัติแห่งชาติหวังใช้แจงคู่ค้า รับเยียวยา

กรมชลประทาน รายงาน ณ วันที่ 14 เมษายน 2563 ว่า ณ ปัจจุบันมีจังหวัดที่ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว 24 จังหวัด

4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) มีปริมาณนํ้าใช้การได้ 2,301 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพียง 13% ของความจุน้ำใช้การ มีข้าวนาปรังทั่วประเทศที่รอเก็บเกี่ยวอีก 1.92 ล้านไร่เสี่ยงได้รับความเสียหาย ยังไม่รวมถึงพืชเกษตรอื่นๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปส่งออกอีกหลายชนิดที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นทุกขณะ ซึ่งหากประเมินพืชเกษตรที่สำคัญ อย่างข้าวเปลือกและมันสำปะหลัง ผลผลิตหายไปจากปีก่อนแล้ว 12.5 ล้านตัน

 

ข้าวเหลือ18ล้านตัน

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดผลผลิตข้าวเปลือกไทยปี 2562/2563 จะมีประมาณ 28 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีที่แล้วที่มีผลผลิต 32 ล้านตัน คิดเป็นข้าวสารราว 18.5 ล้านตัน (ใช้บริโภคในประเทศประมาณ 10 ล้านตัน และเป้าหมายส่งออก 7.5 ล้านตัน) จากปีที่แล้ว 21 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลกระทบจากภัยแล้ง ผลที่ตามมาคือราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ณ เวลานี้เฉลี่ยที่ 10,200-11,200 บาทต่อตัน คิดเป็นราคาข้าวสาร 17,500 บาทต่อตัน และราคาข้าวสารส่งออก 575-580 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงสุดรอบ 10 ปี

“ราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลดีกับชาวนา แต่จะกระทบผู้บริโภค รวมถึงต้นทุนส่งออกในกลุ่มข้าวขาวที่ปรับตัวสูงขึ้นรอบ 10 ปีเช่นกัน อย่างไรก็ดีจากที่คู่แข่งขันมีข้อจำกัดในการส่งออกข้าวในช่วงโควิด-19 ระบาด เช่น อินเดียมีการล็อกดาวน์ ทำให้มีปัญหาในการขนส่งสินค้า เวียดนามจำกัดการส่งออกเหลือ 4 แสนตันต่อเดือน (เม.ย.-พ.ค.) กัมพูชาไม่ให้ส่งออกข้าวขาวให้ส่งออกเฉพาะข้าวหอม เมียนมาไม่ออกใบอนุญาตส่งออกข้าวสำหรับออร์เดอร์ใหม่เพื่อไว้บริโภคในประเทศ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้คาดออร์เดอร์บางส่วนจะไหลมาที่ไทยมากขึ้น”

มันวูบตํ่าสุดรอบ 15 ปี

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เผยว่า จากแล้งหนัก คาดผลผลิตมันสำปะหลังของไทยปีนี้ (ปีผลิต 2562/2563) จะเหลือเพียง 19.50 ล้านตัน จากปีที่แล้ว 28 ล้านตันเศษ และถือว่าตํ่าสุดในรอบ 15 ปี นับจากปีผลิต 2547/48 ที่มีผลผลิต 16.94 ล้านตัน (จากเพลี้ยสีชมพูระบาด) ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรเวลานี้เหลือ 1-2 ตันต่อไร่ จากปกติเฉลี่ย 3.5-3.6 ตันต่อไร่ จะส่งผลทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยปีนี้ลดลง โดยมันเส้นคาดจะเหลือระดับ 2 ล้านตัน จากปีที่แล้ว 3 ล้านตัน และแป้งมันสำปะหลังคาดจะลดลง 15% จากปีที่แล้วส่งออก 4 ล้านตัน

แล้งทุบเกษตร  ข้าว-มันหาย12ล้านตัน

 

ลามผักผลไม้ป้อนรง.

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยว่า ภัยแล้งที่รุนแรงในปีนี้ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรที่ใช้แปรรูปส่งออกได้รับความเสียหาย มีผลต่อปริมาณวัตถุดิบป้อนโรงงานลดลงและขาดแคลน อาทิ สับปะรด เดิมคาดผลผลิตปี 2563 จะมีประมาณ 1 ล้านตัน แต่จากภัยแล้งคาดจะมีผลต่อผลผลิตที่จะออกมาเดือนพฤษภาคม-กันยายน ลดลง 30-40% เวลานี้ผลผลิตสับปะรดเข้าโรงงานมี 2,800-2,900 ตันต่อวัน จากปกติใช้ผลผลิตราว 5,000 ตันต่อวัน และราคาสับปะรดป้อนโรงงานอยู่ที่ 10.50-12 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอีกจากผลผลิตมีน้อย

ในกลุ่มผัก อาทิ ข้าวโพดอ่อน เวลานี้ผลผลิตลดลงประมาณ 10-20% ข้าวโพดหวานปีนี้พื้นที่เพาะปลูกที่ไม่สามารถปลูกได้ราว 50% จึงคาดว่าผลผลิตจะลดลง 30-50% ราคารับซื้อในช่วงนี้อยู่ที่ 5.20 บาทต่อกก.จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.80 บาทต่อกก. ส่วนหน่อไม้ฝรั่งที่มีช่วงเพาะปลูกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เก็บเกี่ยวช่วงมิถุนายน-กันยายน หากไม่มีฝนในช่วงเดือนพฤษภาคมจะเสียหายไม่มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวในปีนี้ ส่วนราคาผักที่ใช้ผลิตอาหารแปรรูปส่งออก เช่น กระเทียม ขิง ตะไคร้ ราคาปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว 1-2 เท่า ผลไม้เช่น เงาะ ขนุน ลูกตาล คาดผลผลิตก็จะลดลง

“อยากให้รัฐบาลประกาศภัยแล้งเป็นภัยพิบัติแห่งชาติ และมีระเบียบหรือมาตรการออกมาชัดเจนเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถชี้แจงกับลูกค้าในต่างประเทศได้ รวมถึงควรมีมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและภาษีสำหรับกลุ่มเกษตรกรที่เป็นภาคการผลิต และผู้ประกอบการที่ไม่มีวัตถุดิบส่งออกในช่วงสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง”

นายระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยกล่าวว่า จากภัยแล้งที่มีผลให้ผลผลิตข้าวของเกษตรกรลดลงในปีนี้ ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกและข้าวสารราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ราคาวัตถุดิบข้าวสารเพื่อผลิตข้าวสารบรรจุถุงปรับขึ้นมากกว่า 30% ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาข้าวถุงที่ส่งให้กับโมเดิร์นเทรดแล้วในเวลานี้ 10-20% แต่ที่ยังไม่ปรับขึ้นถึง 30% เพราะบางรายยังมีสต๊อกข้าวเก่าที่ราคายังไม่สูงมากช่วยพยุงราคา ทั้งนี้ข้าวสารบรรจุถุงมีต้นทุนวัตถุดิบข้าวคิดเป็น 95% ที่เหลือเป็นต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์ ค่าการผลิต และค่าขนส่ง 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,566 วันที่ 16 - 18 เมษายน พ.ศ. 2563