ราคาข้าวพุ่งรอบ 10ปี ใครได้-ใครเสีย ?

16 เม.ย. 2563 | 04:56 น.

รายงาน 

ปัจจัยทั้งภายในและนอกประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คู่แข่งขันส่งออกข้าวทั้งอินเดีย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมามีข้อจำกัดลดการส่งออก และเพื่อคงสต๊อกข้าวไว้บริโภคในประเทศให้มากขึ้น ส่งผลให้ผู้นำเข้าเล็งคำสั่งซื้อมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ภัยแล้งที่รุนแรง มีผลให้ผลผลิตข้าวเปลือกและข้าวสารของไทยที่ใช้บริโภคภายในและส่งออกมีปริมาณที่ลดลง โรงสี ผู้ค้า ผู้ส่งออกข้าวแย่งซื้อดันราคาขยับสูงสุดในรอบ 10 ปี

 โดยราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ในเวลานี้ ในกลุ่มที่ขึ้นแรงสุดคือข้าวเปลือกเจ้า โดยโรงสีรับซื้อที่ 10,500- 11,200 บาทต่อตัน (จากต้นปีอยู่ที่ 7,600-8,000 บาทต่อตัน)สีแปรเป็นข้าวสารขายที่ 16.00-17.50 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) หรือ 16,000-17,500 บาทต่อตัน ดันราคาข้าวส่งออกของไทย(ข้าวขาว 5% ราคาเอฟโอบี)  ณ เวลานี้เฉลี่ยที่ 575-580 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวสารบรรจุถุง(ในกลุ่มข้าวขาว)ราคาปรับขึ้นจากต้นปีแล้วในเวลานี้ 10-20% คำถามคือ ใครได้ หรือใครเสียจากสถานการณ์ในครั้งนี้

- 6 ฝ่ายได้ประโยชน์

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ในครั้งนี้แน่นอนคือ 1.ชาวนาที่ขายข้าวเปลือกได้ราคาสูงขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งชาวนาที่เพิ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตไป และชาวนาในพื้นที่ชลประทานที่ยังมีผลผลิตรอการเก็บเกี่ยว รวมถึงชาวนาในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำสาธารณะที่ยังพอมีน้ำให้สูบทำนา  ชาวนาบางส่วนในภาคอีสานที่ยังพอมีข้าวที่เก็บไว้ในยุ้งฉางที่สามารถทยอยขายได้ ซึ่งนอกจากข้าวเปลือกเจ้าที่ขายได้ราคากว่า 10,000 บาทต่อตันแล้ว  ในส่วนของข้าวเปลือกหอมมะลิ(ที่ผลผลิตเวลานี้มีไม่มาก)ขายได้ที่ 15,000-16,800 บาทต่อตัน, ข้าวหอมปทุมธานี 12,500 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเหนียว(กข.6) 16,500-17,800 บาทต่อตัน(ราคา ณ วันที่ 15 เม.ย.2563)

 

“ชาวนาได้ประโยชน์จากราคาข้าวเปลือกราคาสูงขึ้นในครั้งนี้ แต่แค่บางส่วน แต่ส่วนใหญ่ถูกบล็อกจากภัยแล้ง ทำให้ไม่สามารถทำนาได้ ต้องรอหน้าฝนที่จะมาถึง”

ราคาข้าวพุ่งรอบ 10ปี ใครได้-ใครเสีย ?

                                        รศ.สมพร  อิศวิลานนท์

 

ราคาข้าวพุ่งรอบ 10ปี ใครได้-ใครเสีย ?

 

2.จากราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้นมากดังกล่าว รัฐบาลได้รับอานิสงส์ไม่ต้องจ่ายชดเชยประกันรายได้ข้าว จากราคาข้าวในตลาดสูงกว่าราคาประกัน โดยข้าวเปลือกเจ้ารัฐบาลประกันรายได้ไว้ที่ 10,000 บาทต่อตัน, ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน,ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาทต่อตัน รัฐบาลสามารถประหยัดงบไม่ต้องจ่ายชดเชย และสามารถนำไปใช้เยียวยาภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้มากขึ้น

 

3.โรงสีได้ประโยชน์จากซื้อข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสารส่งให้ผู้ส่งออก ผู้ค้าข้าว และผู้ผลิตข้าวถุง แม้ต้นทุนข้าวเปลือกจะสูงขึ้นแต่ก็ขายข้าวสารได้ในราคาที่สูงขึ้น (ราคาข้าวขาว 5% ณ วันที่ 15 เม.ย.2563 อยู่ที่ 16.00-16.60 บาทต่อ กก. หรือ 1,600-1,660 บาทต่อกระสอบ 100 กก.  เทียบกับเดือนมกราคม(3 ม.ค.63) อยู่ที่ 11.80-12.00 บาทต่อ กก. หรือ 1,180-1,200 บาทต่อกระสอบ)

ราคาข้าวพุ่งรอบ 10ปี ใครได้-ใครเสีย ?

 

4.ผู้ส่งออกได้ประโยชน์แม้จะมีต้นทุนข้าวสารที่สูงขึ้น แต่ก็ขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน จาก 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาข้าวขาว 5% ส่งออกที่ 512 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน  ณ ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 570-580 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือขึ้นมาประมาณ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ(หรือเพิ่มขึ้น 2,240 บาทต่อตัน คำนวณที่ 32 บาทต่อดอลลาร์)

 

5.ผู้ประกอบการข้าวถุงได้ประโยชน์จากราคาข้าวถุงที่ปรับเพิ่มขึ้น 10-20% โดยหากรายใดมีสต๊อกข้าวเปลือกที่ซื้อไว้ในราคาเฉลี่ยกว่า 7,000 บาทต่อตันช่วงปลายปี เพื่อสีแปรข้าวถุงในช่วงนี้ก็สามารถฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเพื่อทำกำไรได้ 10-15% รวมถึงปรับราคาขึ้นได้ตามต้นทุนวัตถุดิบใหม่ และตามสถานการณ์ราคาข้าวถุงที่ปรับขึ้น และ 6.ผู้ประกอบการห้างค้าปลีก หรือโมเดิร์นเทรดที่คิดค่าวางจำหน่ายข้าวถุง และบวกกำไรจากส่วนต่าง ๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 20% 

ราคาข้าวพุ่งรอบ 10ปี ใครได้-ใครเสีย ?

-โมเดิร์นเทรดพุงกาง

นายสมเกียรติ  มรรคยาธร นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า  แม้เวลานี้ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตข้าวถุงในส่วนของข้าวขาวปรับขึ้น 30% ข้าวหอมปทุมธานีปรับขึ้น 20% และข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น 10%  แต่มีผู้ประกอบการแจ้งทางห้างค้าปลีกหรือโมเดิร์นเพื่อขอปรับราคาขึ้นข้าวถุงไม่มาก ขณะที่ส่วนใหญ่ยังตรึงราคา และอีกส่วนหนึ่งยังมีการทำโปรโมชั่นข้าวถุงราคาประหยัดเพื่อส่งเสริมการขายร่วมกับทางห้างฯ

 

สำหรับข้าวถุงขนาด 5 กก.ราคาเคยขึ้นไปสูงสุดเมื่อปี 2551 สมัยที่นายมิ่งขวัญ  แสงสุวรรณ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในปีนั้นเกิดวิกฤติราคาข้าวในตลาดโลกทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ผลจากประเทศผู้ผลิตรายสำคัญโดยเฉพาะเวียดนามและอินเดียประสบภาวะผลผลิตเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวส่งออกลดลง รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศมีมาตรการชะลอการส่งออก โดยเพิ่มเพดานราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำและระงับการทำสัญญาการส่งออกข้าว เพื่อประคองไม่ให้ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้นมากเกินไป

 

ในปีนั้นประเทศผู้นำเข้าข้าวเร่งนำเข้า จากเกรงราคาจะสูงขึ้นและมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีผลถึงราคาข้าวในไทยปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยราคาข้าวหอมมะลิบรรจุถุงขึ้นไปถึง 350 บาท และข้าวขาว 250 บาทต่อ 5 กก.

 

“จากวิกฤติครั้งนั้นกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเพดานข้าว ในส่วนของข้าวหอมมะลิราคาหน้าถุงต้องไม่เกิน 280 บาท และข้าวขาวไม่เกิน 180 บาทต่อ 5 กิโลกรัม เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ซึ่งผ่านมา 10 กว่าปี ราคาข้าวถุงก็เฉลี่ยอยู่ที่บวกลบ 100 บาทต้น ๆ ต่อ 5 กิโลกรัม จากเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสมูบรณ์ คู่แข่งขันมาก”

 

ทั้งนี้ข้าว 1 ถุงมีต้นทุนข้าวสารกว่า 95%  ที่เหลือเป็นค่าถุงบรรจุ 6 บาทต่อถุง ขณะที่ห้างจะคิดค่ากำไรพื้นฐาน( Front Marjin) ค่ากำไรจากการทำสัญญาการค้า(Back Marjin) ค่าขนส่งในศูนย์กระจายสินค้า  ค่าตอบแทนการขาย (Rebate) จากการทำโปรโมชั่นลดราคาเพิ่มยอดจำหน่าย 10% ต่อถุง ที่ผู้ประกอบการข้าวถุงต้องรับภาระค่าใช้จ่าย  สรุปแล้วห้างจะเป็นผู้ได้รับผลตอบแทนมากกว่า ขณะที่ผู้ประกอบการจะมีกำไรจากรายได้ทั้งหมดเฉลี่ยประมาณ 1% เท่านั้น โดยที่เน้นวอลุ่ม(ปริมาณ)การขายเป็นหลัก

ราคาข้าวพุ่งรอบ 10ปี ใครได้-ใครเสีย ?

                           สมเกียรติ  มรรคยาธร

 

-ชาวนา-ผู้ส่งออกได้-ผู้บริโภครับกรรม

นายปราโมทย์  เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนา และเกษตรกรไทย กล่าวว่า  ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคไม่ต้องห่วงว่าข้าวจะขาดแคลน เพราะยังมีข้าวรอบนาปรังรอเก็บเกี่ยวอีกเป็นล้านไร่ โดยชาวนาปลูกทั้งในพื้นที่ชลประทาน  พื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำที่ยังพอมีน้ำ หรือใช้น้ำจากการขุดบ่อบาดาล ซึ่งชาวนาก็ต้องทำนาเพราะเป็นอาชีพ ที่ไหนมีน้ำก็ต้องทำ ยิ่งได้ราคาดีก็ต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ปรับขึ้นมาที่ระดับ 1 หมื่นบาทต่อตันก็ขอให้ทุกฝ่ายยินดีกับชาวนาด้วย เพราะแต่ก่อนชาวนาขายข้าวเปลือกได้แค่ 5,000-6,000 ต่อตัน แทบไม่มีกำไร แต่หากขายได้ 8,000 บาทต่อตันขึ้นไปชาวนาอยู่ได้

ราคาข้าวพุ่งรอบ 10ปี ใครได้-ใครเสีย ?

                                               ปราโมทย์  เจริญศิลป์

 

 นายชูเกียรติ  โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าจากประเทศคู่แข่งขันส่งออกข้าวมีข้อจำกัดในการส่งออกช่วงโควิด-19 ระบาด เช่น อินเดียมีการปิดเมือง(ล็อกดาวน์) ทำให้มีปัญหาในการขนส่งและส่งออกสินค้า เวียดนามจำกัดการส่งออกเหลือ 4 แสนตันต่อเดือน(เม.ย.-พ.ค.) กัมพูชาไม่ให้ส่งออกข้าวขาวให้ส่งออกเฉพาะข้าวหอม เมียนมาไม่ออกใบอนุญาตส่งออกข้าวสำหรับออเดอร์ใหม่เพื่อไว้บริโภคในประเทศ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้คาดจะมีผลทำให้คำสั่งซื้อข้าวบางส่วนจะไหลมาที่ไทยมากขึ้น

ราคาข้าวพุ่งรอบ 10ปี ใครได้-ใครเสีย ?

                                           ชูเกียรติ  โอภาสวงศ์

 

บทสรุปราคาข้าวเปลือกและข้าวสารที่ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี ชี้ชัดแล้วว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์มี 6 ฝ่ายคือเกษตรกร รัฐบาล ผู้ส่งออก โรงสี ผู้ประกอบการข้าวถุง โมเดิร์นเทรด โดยได้มากน้อยแตกต่างกันไป ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือผู้บริโภคที่ต้องควักจ่ายค่าข้าวในราคาที่สูงขึ้นนั่นเอง