หมอทวีศิลป์ เปิดเบื้องลึก ภูเก็ต”เอาอยู่”ไวรัสโควิด

13 เม.ย. 2563 | 08:18 น.

หมอทวีศิลป์เปิดกรณีความสำเร็จของจังหวัดภูเก็ต ใช้มาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก สกัดผู้ป่วยติดเชื้อลดลง

ในการรายงานสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ภูเก็ต จังหวัดที่มีพื้นที่เป็นเกาะในทางภาคใต้และเมืองท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ฉายาไข่มุกอันดามันติดอันดับต้นๆของจังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสม รองจากกรุงเทพมหานคร  

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวว่าจังหวัดภูเก็ตมีผู้ป่วยจำนวนมากเป็นอันดับสองของประเทศ  

“เราได้รับการรายงานมีผู้ป่วยติดเชื้อรายแรกในวันที่ 26 มกราคม ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือนยอดผู้ป่วยพุ่งขึ้นอย่างมาก”

 

จึงต้องมีการการกดตัวเลขผู้ป่วยสะสมให้ต่ำกว่า 170 ราย  ทั้งนี้ในวันที่ 4 เมษายน จังหวัดร่วมกับทางสาธารณสุขได้นำกระบวนการ active case finding การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น 

ในจังหวัดภูเก็ตกลุ่มเสี่ยง พบว่าอันดับหนึ่ง จากสถานบันเทิง มี 71 คน รองลงมาสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ และอันดับสาม อาชีพเสี่ยง กลุ่มละ 33 รายเท่ากัน อันดับสี่ คนต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ 10 คน และอันดับห้า คนไทยกลับจากต่างประเทศ 4 คน  

กรณีจังหวัดภูเก็ตที่มีผู้ป่วยมากเนื่องจากผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่ 28% มีอาการเกินกว่า 7 วัน เท่ากับหนึ่งในสี่ และอีก 27% มาในวันที่ 4-5-6 คิดเป็นหนึ่งในสี่เช่นกัน ถือว่ามาพบแพทย์ช้า กรณีมาพบแพทย์เร็วคือภายใน 3 วัน23% ใกล้เคียงกับภายใน 1 วัน

“นี่เป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งมาช้า คนๆนั้นก็กลายเป็นพาหะโรคนำเชื้อไปสู่คนอื่น ทำให้จาก 1 คนกลายเป็น 170 กว่าคนภายในเวลาหนึ่งเดือนเศษๆ นี่คือความรุนแรงของโรคนี้”

สำหรับมาตรการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการไป เริ่มจากปิดสถานบันเทิง แต่ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น จึงต้องปิดซอยบางลา นวดแผนไทย สนามกีฬา โรงแรม ปิดพื้นที่หาดป่าตอง ห้ามเข้าออกกอปรกับการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ถึงจะกดตัวเลขลงไปได้  

บทเรียนจากภูเก็ต 1.การติดตามผู้ที่สัมผัสกลุ่มเสี่ยง 2.กลุ่มผู้สัมผัสที่เสี่ยงสูงต้องกักกันให้ได้100% ในพื้นที่ที่จังหวัดจัดให้ 3.ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มหรือพื้นที่ที่เสี่ยงสูง

โฆษก ศบค.ย้ำว่า “กรณีภูเก็ตตรวจน้อย ประหยัดแต่ตรวจในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเฉพาะเจาะจงได้ผลสูง”