ดัชนีเชื่อมั่นมีนาคม ต่ำสุดรอบ 21 ปี

09 เมษายน 2563

ม.หอการค้า เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค.63 อยู่ที่ 50.3 จากเดือน ก.พ. 63 ที่อยู่ในระดับ 64.8 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 21 ปี 6 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

นายธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนมี.ค.2563 นี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13  และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 21 ปี 6 เดือน โดยลดลงอย่างมากจากระดับ 64.8 เป็น 50.3

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน มี.ค. อยู่ที่ 41.6 ลดลงจากเดือน ก.พ.63 ที่อยู่ในระดับ 52.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวจากการปิดกับโอกาสหางานทำเท่ากับ 49.3 จาก 61.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 59.9 จาก 80.4  การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤต COVID19 ทั่วโลก

ดัชนีเชื่อมั่นมีนาคม  ต่ำสุดรอบ 21 ปี

ส่วนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงอย่างมาก จากระดับ 42.7 ในเดือนก.พ.มาอยู่ที่ระดับ 33.6 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 249 เดือนหรือ 20 ปี 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2542 เป็นต้นมาแสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ดีอย่างมากในมุมมองของผู้บริโภค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลงอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 74.3 มาอยู่ที่ระดับ 58.2 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจ 21 ปี 6 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต   และคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะยังคงปรับตัวลดลต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ COVID19 จะคลายตัวลง  ดังนั้นคาดว่าผู้บริโภคจะชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้

 

ดัชนีเชื่อมั่นมีนาคม  ต่ำสุดรอบ 21 ปี

สำหรับปัจจัยลบที่มีผลต่อ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค คือ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น, รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อบริหารจัดการและควบคุมโควิด-19 ประกอบกับการสั่งปิดห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ ทำให้เกิดการปิดกิจการ ยกเลิกการจ้างงาน มีแรงงานตกงาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 63 เป็น -5.3% จากเดิมคาดจะขยายตัว 2.8% และหากสถานการณ์ไม่สามารถควบคุมได้รุนแรงเหมือนกรณีอิตาลีเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงไปอีก แต่ก็คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ 3% ในปี 2564

 

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและการหารายได้ของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ, การส่งออกของไทยเดือน ก.พ.ลดลง 8.24% นำเข้าลดลง 4.30% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยส่วนใหญ่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก