เปิดเกณฑ์“สปสช.”จ่ายชดเชยค่ารักษาโควิด-19

08 เม.ย. 2563 | 10:52 น.

สปสช. จัดงบกว่า 4.2 พันล้านบาท จ่ายชดเชย ผู้มีสิทธิ์ตามบัตรทอง เข้าไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมรองรับค่ารักษาทุกขั้นตอน ย้ำ ต้องให้แพทย์ต้องวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง พร้อมและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้บุคลากรทางการแพทย์

8 เมษายน 2563 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีการใช้สิทธิบัตรทองเพื่อขอเข้ารับการรักษาโควิด-19 ว่า เนื่องจากโรคไวรัสโควิด19 เกิดขึ้นปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ผ่านการพิจารณาความเห็นชอบของรัฐสภาไปแล้ว

 

อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขึ้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้มีมติบรรจุโรคโควิด -19 อยู่ในสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับโดยรัฐจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดให้โดยงบประมาณบางส่วนที่เกิดจากการประหยัด การซื้อยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมแล้วประมาณ 1,020 ล้านบาท และรัฐบาลได้จัดสรรงบกลางให้อีก 3,260 ล้านบาท รวมเป็น 4,280 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ใน 2 เรื่องใหญ่ คือ เพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ผู้ป่วยบัตรทอง อีกส่วนเพื่อใช้ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค อาทิ การตรวจคัดกรอง เป็นต้น  

ด้านพญ.กฤติยา  ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษกลุ่มบริหารธุรกิจกองทุน สปสช. กล่าวเพิ่มเติมว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิตามบัตรทองซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้จ่ายชดเชยให้กรณีเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 ซึ่งมีทั้งที่เป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วย โดยระบบเดิมนั้น สปสช.ยังจ่ายให้เหมือนเดิมไม่มีการตัดสิทธิเดิมแต่อย่างใด กรณีที่สงสัยหรือได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคที่พบใหม่ จึงได้จัดชุดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในรายการ เนื่องจากมีค่ารักษาที่แตกต่างไปจากเดิม

 

ประการแรก กรณีจ่ายเงินชดเชยค่ายารักษาโควิดให้ โดย คณะกรรมการ สปสช. ได้อนุมัติวงเงินจ่ายเพิ่มเติมให้ในส่วนของยาเพื่อการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 7,200 บาท/ครั้ง โดยตัวเลขดังกล่าวนี้มาจากการคำนวณค่ายารักษาในปัจจุบันแต่ถ้าในอนาคตมียารักษาที่มีราคาสูงขึ้นก็สามารถขอการอนุมัติเพิ่มเติมได้ จึงขอให้มั่นใจว่า ในเรื่องของยาเพื่อการรักษาพยาบาลนั้นสามารถขอรับการจ่ายเพิ่มเติมได้

 

ส่วนกรณีการดูแลผู้ป่วย กรณีผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน หรือเมื่อตรวจคัดกรอง พบการติดเชื้อต้องนำส่งตัวผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนปกติ ต้องมีทีแพทย์พยาบาลดูแลสวมชุดป้องกัน และเมื่อถึงสถานพยาบาลแล้วรถคันนั้นก็ต้องถูกทำฆ่าเชื้อทำความสะอาด ในส่วนนี้ สปสช.จะจ่ายชดเชยให้ตามจริง ไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้ง

กรณีการตรวจคัดกรองจากห้องแล็บ กรณีที่สงสัย หรือ เข้าข่ายว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งถือเป็นการสร้างเสริมสุขภาพให้กับคนไทยทุกคนนั้น เมื่อตรวจแล้วสามารถเบิกจ่ายค่าบริการคัดกรอง จ่ายชดเชยให้ จำนน 540 บาท และค่าแล็บ 3,000 บาททุกครั้ง อย่างไรก็ดี ขอเน้นย้ำว่า ผู้ที่ไม่มีอาการไข้ ไม่ป่วย ไม่มีประวัติเสี่ยงไม่แนะนำให้ไป

 

สำหรับผู้ป่วยนอกเมื่อตรวจแล้วรับยากลับบ้านจะมีการจ่ายชดเชยค่ายา หากจำเป็นที่สถานพยาบาลต้องรับไว้เพื่อรักษา ก็จะมีการจ่ายชดเชยให้กับชุด PPE ของหมอและพยาบาลโดยจ่ายชดเชยให้ รวมถึงการจ่ายชดเชยให้กรณีที่ต้องตรวจเลือด วันละ 2,500 บาทต่อคนต่อวัน รวมถึงมีการจ่ายชดเชยให้กรณีหากจำเป็นต้องนอนอยู่โรงพยาบาลด้วย โดยสามารถเบิกจ่ายได้ตั้งแต่การเข้ารับบริการได้ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

 

นอกจากนี้ ทาง สปสช.ได้อนุมัติค่าจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้โรงพยาบาลรัฐ 400 แห่งเพื่อให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสามารถรับยาที่บ้านโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ลดการเดินทางมาโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยอาจจะเสี่ยงรับเชื้อเพิ่ม ขณะที่ในส่วนของบุคคลากรทางการแพทย์จะได้ปรับอัตราการช่วยเหลือกรณีติดเชื้อ จำนวน 2 เท่าจากอัตราเดิมใน 3 กรณี ประกอบด้วย กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังตลอดชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือ ตั้งแต่ 480,000 - 800,000บาท กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือพิการ จ่ายเงินช่วยเหลือ 200,000 -480,000 บาท และกรณีบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 200,000บาท 

 

เปิดเกณฑ์“สปสช.”จ่ายชดเชยค่ารักษาโควิด-19