ยอดใช้สิทธิGSPปี62 ขยายตัว16%

21 ก.พ. 2563 | 09:49 น.

พาณิชย์ เผยยอดใช้สิทธิพิเศษทางการค้ายังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนปัญหาไทยจะถูกระงับ จีเอสพี สหรัฐ กรมฯเตรียมแผนช่วยเหลือ SMEs เต็มที่

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำหรับการใช้สิทธิจีเอสพีในช่วงปี 2562 (ม.ค.-ธ.ค.) ที่ผ่านมา มีการส่งออกโดยใช้สิทธิรวม 5,254 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.48% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 63.05% จากสินค้าที่ได้สิทธิรวม 8,334ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดสหรัฐฯ มีการใช้สิทธิสูงสุด 4,787% เพิ่มขึ้น 10.20% รองลงมา คือ รัสเซีย ใช้สิทธิ 139 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 14.63% สวิตเซอร์แลนด์ ใช้สิทธิ 299 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.003% และนอร์เวย์ ใช้สิทธิ 27.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.21%

ส่วนการใช้สิทธิภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในปี 2562 มีมูลค่า 65,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.81% คิดเป็นสัดส่วน 76.51% จากมูลสินค้าที่ได้รับสิทธิรวม 85,693 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดที่มีการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 24,553ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีน มูลค่า 18,021 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออสเตรเลีย มูลค่า 7,746 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่น มูลค่า 7,456ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอินเดีย มูลค่า 4,270ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ยอดรวมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าทั้ง 2 ระบบ ทั้งจีเอสพีและเอฟทีเอรวมกันมีมูลค่า 70,815ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 75.31% ของการใช้สิทธิรวม และลดลง 4.45%

ยอดใช้สิทธิGSPปี62 ขยายตัว16%

สำหรับกรณีที่ไทยจะได้รับผลกระทบจากกรณีที่สหรัฐ ระงับสิทธิพิเศษจีเอสพี ของประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณารอประกาศผล กรมฯได้มองว่าหากประเทสไทยถูกระงับสิทธิพิเศษจริง กรมฯ ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยได้รับแจ้งว่ามีผู้ประกอบการประมาณ 30 ราย จาก 50 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ได้รับผลกระทบ กรมฯ ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้แล้ว ทั้งมาตรการด้านการเงิน การตลาด การอำนวยความสะดวกทางการค้า พร้อมทั้ง กรมฯ ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในการดำเนินการ เพื่อกระจายความเสี่ยง ขยายตลาดใหม่ ได้แก่ อเมริกาเหนือ มีการขยายตัวในสินค้าอาหารสำเร็จรูปประเภทวีแกน เอเชียใต้ เน้นอินเดียมีแนวโน้มการขยายตัวของอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

ยอดใช้สิทธิGSPปี62 ขยายตัว16%

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมนำผู้ประกอบการทั้ง 50 ราย ทั้งที่ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบและได้รับผลกระทบ เข้าร่วมงานเสวนา “ตัดสิทธิ GSP : SMEs รับมืออย่างไร” ในวันที่ 25 ก.พ.2563 ที่อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ที่จะมาให้ข้อมูลถึงสถานการณ์การตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงโอกาสและทางเลือกในการหาตลาดใหม่ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้านการเงินและการลงทุน ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกัน ในวันที่ 27 ก.พ.2563 จะนำผู้ประกอบการทั้ง 50 ราย ไปพบปะกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ในช่วงที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดเอ็กซ์ปอร์ตคลินิก เพื่อให้ปรึกษากับทูตพาณิชย์โดยตรง ซึ่งน่าจะช่วยได้ตรงจุด เพราะผู้ประกอบการจะได้ทราบโอกาสและความต้องการของตลาดใหม่ๆ ที่จะมาช่วยรองรับการส่งออก

ยอดใช้สิทธิGSPปี62 ขยายตัว16%