ชิงผู้นำตลาด5Gเดือด

20 ก.พ. 2563 | 05:25 น.

นักวิชาการชี้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมหลังจากนี้แข่งเดือด เผย 5 ผู้ประกอบการโทรคมนาคมชิงผู้นำ 5Gด้านนักวิเคราะห์ตลาดไอที-โทรคมนาคม ตั้งคำถามลงทุนโครงข่ายเอไอเอส


นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับประมูล 5G ว่า การประมูลในรอบนี้ กสทช.ได้ค่าคลื่นทั้งหมด 100,521,177,177 บาท หากเทียบเคียงและเทียบราคาแบบเมกะเฮิรตซ์ต่อเมกะเฮิรตซ์กับการประมูลคลื่นในย่านต่างๆ แข่งขันพอสมควร แต่โดยความเป็นจริงมีปัจจัย 2 ประการ อันแรกเราใช้ราคาของการประมูลแบบเดิมๆ จากคลื่นเก่าๆ มาตั้งต้นเป็นตัวเทียบตลอดไม่ได้ อาทิ ในอดีตเคยมีใบอนุญาตคลื่น 15MHz ประมูลจบในราคา 35,000 ล้านบาทก็มี ซึ่งนั่นคือข้อเท็จจริงที่เคยเกิดมาแล้วว่าประเทศไทยประมูลคลื่นแพงที่สุดในโลก

ประการต่อมาคือ เรื่องของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนความต้องการและบริบทการใช้คลื่นเพื่อมาสร้างบริการใหม่ๆ แบบ 5G ก็เปลี่ยน คือจำเป็นต้องใช้คลื่นผืนใหญ่ขึ้น อาทิ ต้องกว้างขนาด 80-100 MHz จึงจะสร้างบริการ 5G ที่มีประสิทธิภาพได้ ทำให้ความสมดุลเรื่องราคาต่อปริมาณคลื่นเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเกิดขึ้นกับการประมูลคลื่นในหลายประเทศที่เริ่มบริการ 5G

การทบทวนราคามูลค่าคลื่นและการนำคลื่นผืนอื่นๆ ที่อาจไม่เคยถูกใช้งานด้านโทรคมนาคมมาก่อนจึงเกิดขึ้น ทั้งย่าน 700 ย่านดาวเทียม หรือย่านสูงแบบ 26GHz เป็นต้น ซึ่งโมเดลราคาคลื่นจึงเหมือนถูกรีเซตและทบทวนกันใหม่เพราะต้นทุนการสร้าง 5G ไม่ได้มีแต่คลื่น ยังมีส่วนของอุปกรณ์โครงข่ายอีก ทั้งหมดจึงทำให้เราอาจจะเห็นว่าคลื่นในบางย่าน อาทิ 26GHz อาจไม่สามารถนำมาเทียบแบบเมกะเฮิรตซ์ต่อเมกะเฮิรตซ์ได้ แต่ควรมีราคาที่เหมาะสมกับการปล่อยออก เพื่อไปสร้างบริการและทำประโยชน์ในด้านอื่นๆ ที่อาจตอบกลับมาเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ

โดยสรุปคืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไม่ได้เสื่อมถอยหรือด้อยค่าหากจะมองแค่ราคาคลื่นอาจไม่ได้สูงมากแบบในอดีต แต่เป็นเพราะรูปแบบการใช้คลื่น และการบริหารจัดการการใช้คลื่นและความต้องการเปลี่ยนไป หากโมเดลราคาเป็นแบบเดิมคือแพงมากการประมูลคลื่นทำ 5G ระดับที่ต้องใช้คลื่น 100 MHz ราคาคงพุ่งเป็น 2 แสนล้านต่อคลื่น 100MHz ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้คือไม่มีคนลงทุนทำ

ด้านนายวีรเดช พาณิชย์วิสัย ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยอาวุโส บริษัท ไอดีซี รีเสิร์ช (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า การประมูล 5G ครั้งนี้เอไอเอสใช้เงินลงทุนประมูลคลื่นความถี่มหาศาล ท่ามกลางตัวเลขรายได้ที่ไม่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ คำถามสำคัญ คือ การลงทุนโครงข่าย และการตลาด ที่เอไอเอสจะใส่เข้ามานั้นต้องลดลงตามสัดส่วนการลงทุน อย่างไรก็ตามคลื่นความถี่มีอยู่จำกัด ดังนั้น การลงทุนสะสมคลื่นความถี่ไว้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในระยะยาว

หน้า 11  ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,550 วันที่ 20 - 22 กุมภาพันธ์ 2563