เร่งถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมที่โคราช

17 ก.พ. 2563 | 11:07 น.

“นักวิชาการรัฐศาสตร์”แนะ ทุกฝ่ายเร่งถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมที่โคราช ป้องกันเกิดเหตุซ้ำ

 

จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญกราดยิงที่โคราช ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนั้น รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนความเห็นกับ“ฐานเศรษฐกิจ”เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โคราชว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องถอดบทเรียนของเราเองและนำเอาบทเรียนของประเทศอื่นๆที่คล้ายกับเรามาปรับใช้อย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันขึ้นอีกซึ่งมาตรการของหลายๆประเทศที่น่าสนใจ เช่น การเร่งรัดยกระดับมาตรการการรักษาความปลอดภัยการควบคุมอาวุธปืน ทั้งในเมือง ในศูนย์การค้า และในชุมชน

การเยียวยาผู้ที่สูญเสียและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรวดเร็ว และการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยาของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม และเริ่มดำเนินการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ รวมถึงการปรับแนวทางการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และการสื่อสารสมัยใหม่ของบุคคล

ทั้งนี้ ในมิติของความมั่นคงนั้นนอกจากการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็กำลังเร่งถอดบทเรียนกันอยู่ ซึ่งจะครอบคลุมในเรื่องของตัวบุคคล ความสัมพันธ์ของผู้เสียหายและผู้ก่อเหตุ ผู้ที่เกี่ยวข้อง สายบังคับบัญชาต่างๆ หัวหน้า ลูกน้อง เข้าไปดูกันตั้งแต่การมอบหมายงาน การปฏิบัติงาน สายบังคับบัญชาต่างๆ รวมถึงเรื่องเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย 

ประเด็นที่ 2 คือ การบริหารกระบวนการ วิธีการจัดการต่างๆ ทั้งในพื้นที่เกิดเหตุของทหาร นอกพื้นที่ เช่น ตำรวจ และพื้นที่ส่วนบุคคล ไปดูตั้งแต่การฝึก การวางกำลังพล การควบคุม การระงับเหตุ การสั่งการ การให้ความช่วยเหลือตัวประกัน ฯลฯ ที่จะต้องทยอยทำออกมา  

ประการสุดท้าย คือ ปัจจัยต่างๆที่เป็นมูลเหตุทำให้เกิดเหตุในครั้งนี้โดยต้องไปวิเคราะห์ ปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัยหลักและปัจจัยปะทุสุดท้ายที่ต้องลงลึกไปที่ตัวผู้ก่อเหตุและคู่กรณี เช่น ปัญหาเฉพาะตัวบุคคล ความรุนแรงเฉพาะตัวหรือไม่ เป็นต้น 

“เหตุการณ์นี้ใช้เวลา 10 กว่าชั่วโมง ไม่ใช่เพียงเสี้ยววินาทีและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วย ต้องไปวิเคราะห์กันตั้งวินาทีก่อนและหลังลั่นไก ทุกช่วงเวลาล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น เมื่อถอดบทเรียนได้ทั้งหมดแล้วก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนว่า ไปเกี่ยวข้องพาดพิงกับใคร หน่วยงานไหน และอย่างไร ซึ่งก็ต้องใช้เวลา”

นอกจากนี้ยังได้สะท้อนความเห็นต่อท่าทีของ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในการจัดระเบียบธุรกิจทหารในครั้งนี้ว่า คิดว่า เป็นความพยายามในการแก้ปัญหาในหลายส่วนของกองทัพที่อาจมีมานานซึ่งบางส่วนอาจไม่เกี่ยวโดยตรง โดยใช้โอกาสนี้ในการพยายามเปลี่ยนแปลงซึ่งก็ต้องใช้เวลาเพราะบางเรื่องไม่อาจใช้แค่คำสั่งในการแก้ปัญหาได้ และต้องให้เวลาผู้ปฏิบัติในการปรับตัว ต้องดูคนที่รับคำสั่ง และประเมินอีกทีหนึ่ง ขณะที่บางเรื่องก็สามารถทำได้เลย บางเรื่องต้องใช้เวลา บางอย่างอยู่ในกองทัพแต่บางอย่างอยู่นอกกองทัพ เช่น ตำรวจ เป็นต้น