ธปท.ฟันธง Q1 ธุรกิจ ‘หดตัว’ทั่วไทย

16 ก.พ. 2563 | 01:30 น.

รายงาน : โดย โต๊ะข่าวภูมิภาค

 

ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานแนวโน้มธุรกิจ ประจำไตรมาสที่ 4/2562 จากการสำรวจธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ กว่า 800 แห่งทั่วประเทศ

ภาคธุรกิจมองว่าเศรษฐกิจไทยหดตัวในหลาย Sector โดยรายได้ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง หดตัวมากสุด 31% ตามกำลังซื้อภายในมาตรการ LTV และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ตามมาด้วยรายได้ภาคการผลิตที่หดตัว 12% ตามรายได้จากการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้า เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และเงินบาทแข็งค่า

ธปท.ฟันธง Q1 ธุรกิจ ‘หดตัว’ทั่วไทย

ขณะที่รายได้ภาคการค้าหดตัว 9% ตัวหลักจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ขายได้น้อยลง ด้านยอดขายค้าปลีกค้าส่งได้รับผลดีจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการชิม ช้อป ใช้ และรายได้ภาคบริการก็ลดลง 7% จากภาวะการแข่งขันสูงขึ้น นักท่องเที่ยวที่ลดลง เศรษฐกิจชะลอตัว และเงินบาทแข็งค่า

ส่วนแนวโน้มข้างหน้า 53% เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะ “ทรงตัว” ของภาวะชะลอไปตลอดปี 2563 มีรายละเอียดเป็นรายภาค ดังนี้

 

“ทัวร์จีน-ขายรถ”ลดฉุดรายได้“เหนือ”

แนวโน้มภาวะธุรกิจภาคเหนือไตรมาสที่ 1 ปี 2563 คาดว่าหดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยธุรกิจในภาคการค้าคาดว่า จะหดตัวหลังจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายต่างๆ ของภาครัฐสิ้นสุดลง กอปรกับยอดขายกลุ่มยานยนต์มีทิศทางหดตัวต่อเนื่อง ตามกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง สำหรับธุรกิจผลิตเพื่อส่งออกคาดว่าหดตัวเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ส่วนธุรกิจผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปมีปัจจัยเสี่ยงจากภัยแล้ง ที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น 

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์บางแห่งเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น จากยอดคำสั่ง ผลิตสินค้าตัวอย่างสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวคาดว่าจะซบเซา จากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่งดเดินทางจากผลกระทบไข้หวัดโคโรนา

 

แล้งกดกำลังซื้อ“อีสาน”

ธุรกิจอีสานแนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 คาดว่าหดตัวเล็กน้อย โดยธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแผ่วลงจากกำลังซื้อที่ไม่เข้มแข็ง ทั้งกำลังซื้อภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และรายได้การจ้างงานที่ปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคการผลิต แม้ว่ายังมีมาตรการของรัฐที่ช่วยพยุงยอดขายได้บ้าง สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์และรถยนต์คาดว่าหดตัวต่อเนื่อง จากที่สถาบันการเงินยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เพราะภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง

แนวโน้มการผลิตชะลอตัวตามการผลิตเพื่อการส่งออก จากการชะลอตัวเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การผลิตเครื่องดื่มมีความเสี่ยงจากความไม่เพียงพอของนํ้าที่ใช้ในการผลิต หากปัญหาภัยแล้งรุนแรงกว่าที่คาด ภาคอสังหา ริมทรัพย์ คาดว่าหดตัวต่อเนื่องตามกำลังซื้อที่ลดลง สถาบันการเงินเข้มงวดสินเชื่อ และมาตรการ LTV ภาคบริการทรงตัวตามการทรงตัวของธุรกิจโรงแรม การลงทุนภาคก่อสร้างคาดว่ายังคงชะลอตัวต่อเนื่อง จากปัญหาความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่เลื่อนการพิจารณาออกไป

 

 

“กลาง”หันจ้างแรงงานชั่วคราว

ผู้ประกอบการภาคกลางส่วนใหญ่ประเมินว่าในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ธุรกิจมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นที่ยังอยู่ในระดับตํ่า ซึ่งคาดว่าจะส่งผล กระทบไปสู่การลงทุนในอนาคตด้วย โดยปัจจัยที่ควรติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ นโยบายต่างๆ ของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทิศทางของค่าเงินบาทที่มีผลต่อธุรกิจส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึงความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณประจำปี 2563 ที่มีนัยต่อบรรยากาศการลงทุน เอกชนหันจ้างงานแบบชั่วคราวมากขึ้น มีการนำระบบอัตโนมัติแทนแรงงานในหลายอุตสาหกรรม กระทบการบริโภค รายได้แรงงานลด กำลังซื้อหดตัว

 

ท่องเที่ยว“ใต้” หวัง“รัสเซีย-ยุโรป”

ธุรกิจใต้มองแนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ว่าหดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน ภาคการผลิตที่คาดว่ายังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว ภาคอสังหาริมทรัพย์มีทิศทางหดตัวเล็กน้อยจากกำลังซื้อที่ยังคงลดลงตามภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน จากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ส่วนนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียลดลงเล็กน้อยจากฐานสูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี ภาคการค้ามีปัจจัยบวกจากการส่งมอบรถยนต์รุ่นใหม่ ทั้งนี้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นลดลงจากการแข่งขันรุนแรงขึ้น และมองว่ามาตรการภาครัฐเป็นเพียงการช่วยเหลือระยะสั้นสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและชำระหนี้เท่านั้น ขณะที่กำลังซื้อโดยรวมยังคงซบเซา 

 

(ล้อมกรอบ)

 

ประเด็นเด่น

4ภาคไตรมาส4/2562

ธปท.ฟันธง Q1 ธุรกิจ ‘หดตัว’ทั่วไทย

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,549 วันที่ 16 - 19 กุมภาพันธ์ 2563

ธปท.ฟันธง Q1 ธุรกิจ ‘หดตัว’ทั่วไทย