กรรม เสียบบัตรแทนกัน ส่อพ้นส.ส.-ลุ้นคุก10ปี

08 ก.พ. 2563 | 08:00 น.

ศาลรธน.ชี้ “ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน” ในการโหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย “ฉลอง เทอดวีระพงศ์” ของภูมิใจไทย และอีก 2-3 คน ส่อพ้นส.ส.-เจอโทษอาญาคุกสูงสุด 10 ปี

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ไม่เป็นโมฆะ จากเหตุระหว่างการพิจารณารับร่างกฎหมายดังกล่าว พบนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คดีไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความผิดทางอาญาหรือทางจริยธรรมของส.ส.คนใด คงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะเรื่องกระบวนการตราร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ส่วนบุคคลใดจะต้องรับโทษอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การกระทำโดยไม่สุจริตใช้สิทธิออกเสียงลงมติ แทนผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมประชุมด้วยนั้น เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นส.ส. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของผู้ใด และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ทั้งสมาชิกคนหนึ่งย่อมมี 1 เสียงในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 วรรค 3 และการออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 80 วรรค 3

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 19.30 น. ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ปรากฏการแสดงตนและลงมติของ นายฉลอง ทั้งที่นายฉลอง รับเองว่าตนไม่อยู่ในที่ประชุมตามวันและเวลาดังกล่าว การที่ส.ส.มิได้อยู่ในห้องประชุม แต่ปรากฏว่ามีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทนย่อมมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่างพ.ร.บ. งบประมาณฯ ในวันและเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ

 

กรรม  เสียบบัตรแทนกัน  ส่อพ้นส.ส.-ลุ้นคุก10ปี

 

ส่วนปัญหาว่าร่างพ.ร.บ. งบประมาณฯ ตกไปทั้งฉบับตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 (กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.) และคำวินิจฉัยที่ 3-4/2557 (กรณีร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท) หรือไม่ เห็นว่าประเด็น ข้อวินิจฉัยพฤติการณ์แห่งคดีและบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแตกต่างจากประเด็นข้อวินิจฉัยพฤติการณ์แห่งคดี และบทกฎหมายในคดีนี้อย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวคือคดีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับข้อความอันเป็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ขัดหรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่มีปัญหาที่กระบวนการตราร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ปรากฏชัดว่า การพิจารณาออกเสียงลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการและการพิจารณาของกรรมาธิการก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่ 2 ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ ถือว่าได้เป็นขั้นตอนที่เสร็จสิ้นไปโดยสมบูรณ์ก่อนแล้ว

นอกจากนี้ยังมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศชาติจะต้องได้กฎหมายฉบับนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 74 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดคำบังคับไว้ในคำวินิจฉัยได้ด้วย ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวนี้มิได้มีอยู่ในอดีต จึงอาศัยอำนาจตามพ.ร.ป.ดังกล่าว ให้สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการให้ถูกต้องเฉพาะในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 และข้อสังเกตของกรรมาธิการ

แต่การพิจารณาลงมติในวาระที่ 1 และขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาออกเสียงลงมติเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่ 2ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปก่อนที่จะมีการกระทำอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงเป็นขั้นตอนที่ชอบและมีผลสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญแล้ว จากนั้นให้เสนอร่างพ.ร.บ.ที่แก้ไขให้ถูกต้องดังกล่าวให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป พร้อมทั้งให้สภาผู้แทนราษฎรรายงานผลการปฏิบัติตามคำบังคับต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติเสียงข้างมากดังกล่าว เป็นมติ 5 ต่อ 4 โดยเสียงข้างมากประกอบด้วย นายนุรักษ์ มาประณีต นายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายปัญญา อุดชาชน นายบุญส่ง กุลบุปผา นายจรัญ ภักดีธนากุล ส่วนเสียงข้างน้อย 4 ราย คือ นายชัช ชลวร นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์

 

ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องเพื่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบเอาผิด 3 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และ 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จากกรณีเสียบบัตร แทนกัน ประกอบด้วย 1. นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ 2. นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ซึ่งไม่อยู่ในประชุม แต่ปรากฏว่ามีชื่อเป็นผู้ลงคะแนนเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว

นอกจากนั้นยังมีพฤติการณ์ เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันของ นายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และน.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ได้นำบัตรมาเสียบกดลงคะแนนรับร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่า การเสียบบัตรแทนกันเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้การสอบสวนของ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดกับ ส.ส. เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร

สำหรับโทษกรณีเสียบบัตรแทนกันนั้น หากป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิด ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ไว้ก่อน จนกว่าศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินออกมาว่ามีความผิด ถึงจะต้องพ้นจากเก้าอี้ส.ส. และมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปรับสูงสุด 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,547 วันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ 2563