ก.เกษตรฯชูบิ๊กดาต้า แก้ปัญหาภัยแล้งฉับไว

29 ม.ค. 2563 | 12:11 น.

เกษตรฯ ชูนโยบาย Quick Win โครงการพัฒนาฐานข้อมูลกลางบิ๊กดาต้าด้านน้ำและการชลประทานใช้เป็นข้อมูลแก้ไขปัญหาในช่วงภัยแล้งได้อย่างฉับไว

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มุ่งมั่นในการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของประเทศ และขับเคลื่อนให้เป็นกระทรวงทีทันสมัย ยกระดับการบริการสู่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตร จึงได้มีการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และได้ทยอยเปิดใช้งานมาเป็นระยะ โดย 1 หนึ่งในความสำเร็จของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือโครงการพัฒนาฐานข้อมูลกลาง Big Data ด้านน้ำและการชลประทาน ของกรมชลประทาน เป็นการพัฒนาระบบการบริหารงานบนพื้นฐานดิจิทัล (Digital Platform)

 

ทั้งนี้โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาปรับปรุงระบบการทำงาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และเพื่อให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ตามนโยบายคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) โดยเฉพาะในช่วงภัยแล้ง โดยจะมุ่งเน้นให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้โดยสะดวก รวดเร็ว มีข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง ข้อมูลเป็น Real Time แสดงผลผ่าน Mobile Web Application ในเว็บเดียว เพื่อให้สามารถติดตามน้ำได้ทั้งระบบ โดยไม่ต้องดาวน์โหลดไว้ในเครื่องโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อใช้งาน สามารถเรียกใช้งานได้ผ่านระบบ Internet

ก.เกษตรฯชูบิ๊กดาต้า แก้ปัญหาภัยแล้งฉับไว

 

ด้านนายธเนศ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้มีโครงการวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตเข้าถึงเกษตรกร ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน โครงการเน็ตประชารัฐ โดยระบบดังกล่าวมีการเชื่อมโยงข้อมูลแบบ Real Time รายวัน รายชั่วโมง โดยประกอบไปด้วยข้อมูล MIS และ GIS ของกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

ข้อมูลพื้นฐาน Base map กรมชลประทาน ประกอบด้วย ลุ่มน้ำหลัก ลุ่มน้ำย่อย ขอบเขตจังหวัด ขอบเขตสำนักงานชลประทาน ที่ตั้งโครงการชลประทาน พื้นที่โครงการชลประทาน พื้นที่ชลประทาน ทางน้ำสายหลัก ทางน้ำสายรอง ถนน ทางรถไฟ

 

ข้อมูลจาก GISTDA พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม พื้นที่เพาะปลูกจากภาพถ่ายดาวเทียม

ข้อมูลจากกรมป่าไม้สัตว์ป่าและพันธ์พืช พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน Agri-Map (ขอบเขตความเหมาะสมการเพาะปลูกพืช)

ข้อมูล real Time Online (IoT) ข้อมูลระดับน้ำจากระบบโทรมาตร ข้อมูลน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ของกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ข้อมูลน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ข้อมูลผังน้ำ เพื่อติดตามสถานการน้ำตามรายลุ่มน้ำโดยเฉพาะผังน้ำเจ้าพระยาตอนบน และเจ้าพระยาตอนล่าง ข้อมูลน้ำท่าจากระบบโทรมาตรขนาดเล็ก ของกรมชลประทาน และการประปาส่วนภูมิภาค ข้อมูลคุณภาพน้ำ จากการประปาส่วนภูมิภาคและกรมควบคุมมลพิษ และข้อมูลจาก Radar ฝน จากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

ก.เกษตรฯชูบิ๊กดาต้า แก้ปัญหาภัยแล้งฉับไว