จี้กยท.ทวงหนี้ ‘โอเรียนน่า’ ค้างค่ายาง 94 ล้าน         

31 ม.ค. 2563 | 03:45 น.

เปิดผลสอบลับปมขายยาง “โอเรียนน่า เวิลด์ รับเบอร์” กรรมการสอบชี้มูลความผิดทำให้ กยท.เสียหายกว่า 94 ล้านบาท “อุทัย” เต้นส่งเรื่องพ่วงหลักฐานให้ประธานบอร์ดสะสาง จี้บริษัทรับผิดชอบ

 

การซื้อขายยางพาราระหว่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กับบริษัท โอเรียนน่า เวิลด์ รับเบอร์ จำกัด (บจก.)ที่ยังค้างชำระหนี้ กยท. กว่า 94 ล้านบาท สร้างความเสียหายให้แก่ กยท. ซึ่งในขณะนั้น นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการ กยท.รักษาการแทน ผู้ว่าการ กยท. ได้มีคำสั่งลงนามแต่งตั้ง นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการด้านอุตสาหกรรมยางและผลิตยาง เป็นประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ .. 2539

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) เผยกับฐานเศรษฐกิจถึงที่มาของเรื่องนี้ว่า เริ่มจาก กยท.ตั้งหน่วยธุรกิจ หรือ บียู ดำเนินการขายยางพารา มีหน้าที่ซื้อยางชี้นำในตลาดกลาง เพื่อยกระดับราคายางในแต่ละวันให้สูงขึ้น เป็นไปตามนโยบายรักษาเสถียรภาพราคายาง เมื่อซื้อแล้วจะต้องหาพันธมิตรขายยาง ซึ่งได้รับการแนะนำจาก บจก.เอเชีย รับเบอร์ (ประเทศไทย) ให้ดึง บจก.โอเรียนน่า เวิลด์ รับเบอร์ เข้ามาเป็นคู่ค้าเพื่อรับซื้อยางพาราที่บียูประมูลมาได้ไปขายอีกต่อหนึ่ง

 

ทั้งนี้กระบวนการคือ ก่อนที่ กยท.จะเข้าไปประมูลยางในตลาดกลาง หน่วยธุรกิจจะติดต่อบริษัทคู่ค้าว่าจะสามารถรับซื้อยางในราคาที่เข้าไปประมูลได้หรือไม่ หากคู่ค้ายินดีรับซื้อในราคาดังกล่าว กยท.จะเข้าไปประมูลยางในตลาดกลาง เมื่อประมูลได้แล้ว ก็จะดำเนินการติดต่อบริษัทที่จะรับซื้อ ส่งใบสั่งซื้อ และ กยท.จะดำเนินการส่งเอกสารยืนยันราคา พร้อมใบแจ้งหนี้ให้กับบริษัทคู่ค้าและส่งใบขนส่งสินค้าให้แก่สำนักงานตลาดกลางยางพาราที่ประมูลได้ ซึ่งจากการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่พบว่าขาดการประสานงานกันจึงทำให้ไม่ทราบว่าบริษัทคู่ค้าไม่ปฏิบัติตามสัญญา

 

จี้กยท.ทวงหนี้ ‘โอเรียนน่า’  ค้างค่ายาง 94 ล้าน         

 

นายอุทัย กล่าวว่า บริษัทได้ทำการซื้อขายกับ กยท.มีใบแจ้งหนี้ จำนวน 29 ฉบับ โดย กยท.ได้ทำสัญญาขาย (ใบสั่งซื้อ เอกสารยืนยันราคา ใบแจ้งหนี้ ใบขนส่งสินค้า) ระบุให้บริษัทต้องชำระมัดจำล่วงหน้า 10% วันส่งมอบยาง ส่วนที่เหลือ 90% ต้องชำระภายใน 30 วัน หลังรับมอบยาง คณะกรรมการได้ตรวจสอบการชำระค่ายางแล้วพบว่าบริษัทมีการชำระค่ายางแล้วกว่า 21 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ) แต่ไม่เป็นไปตามที่ระบุสัญญาไว้ เป็นเหตุให้เกิดหนี้ค้างชำระสะสมกว่า 94 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ดี การใช้เงินเข้าประมูลซื้อยางได้ใช้งบประมาณตามมาตรา 49(3) ...การยางแห่งประเทศไทย .. 2558 และเข้าประมูลซื้อยางภายใต้บริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด และซื้อขายยาง ของ กยท.ภายใต้งบประมาณตามมาตรา 49(1) เป็นความเสียหายต่อเงินเซสส์ซึ่งเป็นเงินที่เก็บจากการส่งออกยางและหักจากเกษตรกร 2 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการละเลยให้เกิดขึ้นอย่างผิดระเบียบซํ้าๆ กันในสัญญาถึง 29 ฉบับและชำระไม่ตรงตามสัญญาเรื่องดังกล่าวนี้ได้ส่งให้นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานบอร์ด กยท.ให้ตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสไปเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา

 

ในรายละเอียดชั้นคณะกรรมการสอบสวนเมื่อสอบข้อเท็จจริงแล้ว ได้ระบุว่าไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอตรวจสอบเอกสารจากหน่วยงานอื่น ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การสอบตรวจธุรกรรมทางการเงินของบัญชีเงินฝากธนาคารในธนาคารพาณิชย์ บัญชี รายรับรายจ่ายของ บจก.โอเรียนน่า เวิลด์ รับเบอร์ จึงไม่สามารถมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ของ กยท.มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้นจึงเห็นควรที่ให้เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายต่อไป

 

อนึ่ง ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ บริษัท โอเรียนน่า เวิลด์ รับเบอร์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีที่ตั้ง เลขที่ 268/26 ซอยลาดพร้าว 122 (มหาดไทย1) พลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ คณะกรรมการมี 3 คน ได้แก่ นายจรุพล บางเหรียง 2.นางสาวสุพรรษา บางเหรียง และนางสาวมัณฑิรา พิบูลธรรมศักดิ์

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,544 วันที่ 30 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2563