โรงงานแปรรูปอาหาร สั่งรับมือแล้งเต็มพิกัด     

16 ม.ค. 2563 | 02:00 น.

โรงงานแปรรูปอาหารผวาภัยแล้ง ทำวัตถุดิบป้อนโรงงานขาดแคลนและคุณภาพตํ่า ชี้สับปะรด ข้าวโพดหวาน หน่อไม้ ข้าวโพดอ่อนน่าห่วง ดันแผนรับมือเร่งขยายพื้นที่ปลูกไปยังพื้นที่ข้างเคียงแหล่งวัตถุดิบหลัก ช่วยเพิ่มปริมาณ อีกด้านดันต้นทุนพุ่ง

 

จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยต้องเผชิญฝนแล้งยาวนานจนถึงเดือนมิถุนายน โดยคาดว่าปริมาณฝนจะตํ่ากว่าค่าปกติ 3-5% ในพื้นที่แล้งซํ้าซาก ได้แก่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกทางการเกษตรที่สำคัญ รวมถึงยังเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญสำหรับโรงงานแปรรูปอาหารเพื่อการส่งออกอีกด้วย

จากสถานการณ์ภัยแล้ง เวลานี้ ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เกษตรกรปลูกพืชไร่ ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง เนื่องจากปริมาณนํ้าในการทำการเกษตรไม่พียงพอ ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย และคาดว่าจะส่งผลต่อปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการแปรรูปอาหารในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า เป็นต้นไป

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับฐานเศรษฐกิจว่า โรงงานแปรรูปอาหารปัจจุบันยังเป็นการใช้วัตถุดิบจากผลผลิตช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการสมาชิกของสมาคม ได้มีการประเมินผลผลิตทางการเกษตร โดยวัตถุดิบหลักในการแปรรูปสินค้าหลักของสมาคม เช่น สับปะรด ข้าวโพดหวาน หน่อไม้ ลำไย ลิ้นจี่ เป็นต้น

ทั้งนี้ในส่วนของผลผลิตวัตถุดิบข้าวโพดหวาน และสับปะรดนั้น คาดจะมีปริมาณวัตถุดิบใกล้เคียงกับปี 2562 (วัตถุดิบสับปะรดปี 2562 ลดลงจากปี 2561 ประมาณ 43% ขณะที่วัตถุดิบข้าวโพดหวานช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ประมาณ 11% สาเหตุจากภัยแล้ง และการแพร่ระบาดของหนอนกระทู้ และแมลงศัตรูพืช)

ส่วนสถานการณ์ของผลผลิตพืชยืนต้น คาดผลผลิตจะทรงตัว หรือลดลง เนื่องจากความไม่เพียงพอของนํ้าที่จะใช้ในการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตออกน้อย หรือขนาดของผลผลิตเล็กกว่ามาตรฐาน หรือผลผลิตไม่สมบูรณ์ ซึ่งส่งผลต่อการใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูป

 

 

ขณะที่สถานการณ์ของผลผลิตพืชตามฤดูกาล เช่น หน่อไม้ ข้าวโพดอ่อน คาดการณ์ว่าผลผลิตจะลดลงเนื่องจากต้องพึ่งพาสภาพภูมิอากาศในการเจริญเติบโต และออกผลผลิต ดังนั้นผู้ประกอบการจึงได้เตรียมแผนรับมือโดยมีการส่งเสริมเกษตรกรเพาะปลูกพืชไร่ เช่น สับปะรด ข้าวโพดหวาน ให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกไปยังตำบลหรืออำเภอข้างเคียง เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณวัตถุดิบ แต่อีกด้านหนึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากต้นทุนด้านการขนส่ง และต้นทุนด้านวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16-18 มกราคม 2563