ภัยแล้งขย่มตลาดมอเตอร์ไซค์

10 ม.ค. 2563 | 03:25 น.

ตลาดรถจักรยานยนต์ ปี 2563 ยังเหนื่อย โดนทั้งภัยแล้ง,พืชผลเกษตรตกตํ่า,หนี้ครัวเรือนสูง ค่ายรถกัดฟันเข็นโปรดักต์ ใหม่ ผนึกผู้จัดอีเวนต์อัดโรดโชว์ -จัดหนัโปรโมชัน พร้อมเจรจาไฟแนนซ์ผ่อนคลายความเข้มงวดหวังช่วยกระตุ้นยอดและสร้างความคึกคักในไตรมาสแรก

 

ตลาดรถจักรยานยนต์ปี 2563 ยังเผชิญปัจจัยลบรุมเร้า โดยเฉพาะภัยแล้งราคาพืชผลทางการเกษตร ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง เช่นเดียวกับความเข้มงวดของไฟแนนซ์ และการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่คิดตามการปล่อยไอเสียเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

ย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์ของตลาดรถจักรยานยนต์ไทย ในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนมาโดยตลอด ตัวเลขจากกรมการขนส่งทางบกแจ้งว่าปี 2554, 2555, 2556 ยอดขายรวมทะลุ 2 ล้านคัน อันเนื่องมาจากนโยบายประชานิยม, โครงการจำนำข้าว ส่งผลให้เกษตรกรมีเงินจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ดีในปี 2557-2558 ยอดขายรวมเริ่มลดลงมาอยู่ที่ 1.6 ล้านคัน เพราะมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบอย่าง การเมืองในประเทศ ทำให้โครงการรัฐชะงัก เม็ดเงินไม่ไหลสู่ระบบเศรษฐกิจ ประกอบกับภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกตํ่า

ต่อมาในปี 2559 -2560 ตลาดสองล้อเชิดหัวกลับมาอีกครั้ง เพราะการเมืองนิ่ง เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลเดินหน้าลงทุนในโครงการต่างๆ และราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดี โดยตัวเลขการขายรวมในช่วง 2 ปีนี้ขยับจาก 1.7 ล้านคัน (ปี 2559) มาเป็น 1.8 ล้านคัน (ปี 2560)

วัฏจักรของตลาดสองล้อเริ่มหดตัวลงอีกครั้งในปี 2561 โดยมีตัวเลขการขายรวม 1.7 ล้านคัน ลดลงเล็กน้อย ซึ่งค่ายรถให้ความเห็นว่าฐานเดิมในปีก่อนนั้นสูง ต่อมาต้นปี 2562 ค่ายรถแสดงความมั่นใจว่าตลาดสองล้อจะเติบโต โดยประเมินว่าจะมียอดขายรวม 1.72 - 1.76 ล้านคัน

สาเหตุที่มั่นใจว่าจะทำได้ตามที่ประกาศไว้ เพราะปลายปี 2561 มีความชัดเจนเรื่องวันเวลาเลือกตั้ง ทำให้ความเชื่อมั่นน่าจะกลับมาและภาพรวมเศรษฐกิจยังดีอยู่ อย่างไรก็ตามพอผ่านพ้นมาถึงช่วงครึ่งหลังปี 2562 มีปัจจัยเสี่ยงทั้งเรื่องภัยแล้ง, อุทกภัย, หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น, การท่องเที่ยวชะลอตัว , ภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งหมดที่ว่ามา ทำให้หลายค่ายมีการปรับลดเป้าหมายยอดขายกันยกใหญ่

ภัยแล้งขย่มตลาดมอเตอร์ไซค์

แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ผลิตเปิดเผยว่า แม้ยอดขายปี 2562 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางกันเอาไว้ แต่ต้องออกแรงกันอย่างหนัก ทั้งอัดกลยุทธ์ส่งเสริมการขาย และเจรจากับไฟแนนซ์เพื่อลดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าง่ายขึ้น โดยประเมินกันไว้ว่ากลยุทธ์นี้ยังต้องใช้ต่อเนื่องจนมาถึงไตรมาสแรกปี 2563 ทั้งนี้เพื่อรอดูปัจจัยและสถานการณ์สักระยะ

เรียกว่าไทม์ไลน์ของตลาดรถจักรยานยนต์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีความผันผวนต่อเนื่อง และแน่นอนว่าในปี 2563 หลายค่ายก็เตรียมแผนรองรับความผันผวนดังกล่าว โดยมีปัจจัยที่พุ่งแรงแซงทางโค้งและกระทบกับตลาดจักรยานยนต์มาทุกยุคทุกสมัยคือ ภัยแล้ง เรียกว่ามาทักทายทีไรกระทบกับผู้ผลิต- ดีลเลอร์ทุกที ไม่นับรวมกับปัจจัยที่ทวีความเข้มข้นมาต่อเนื่องอย่างการปล่อยสินเชื่อของไฟแนนซ์

อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องจับตามองคือ เรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากเดิมที่เก็บตามความจุกระบอกสูบ ซึ่งเมื่อสอบถามไปยังค่ายรถแล้วประเมินว่าน่าจะมีผลกับราคาขายเพียงเล็กน้อย โดยในกลุ่มรถเล็ก ขึ้นตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันบาท แต่ในกลุ่มที่ปรับขั้นเยอะคือ บิ๊กไบค์ ที่ปรับขึ้นหลักหมื่นบาทเป็นต้นไป

ส่วนการปรับตัวของค่ายผู้ผลิต แน่นอนว่ากลยุทธ์หลักยังคงเป็นเรื่องสินค้ารุ่นใหม่ที่มีแผนเปิดตัวในทุกไตรมาส นอกจากนั้นแล้วจะเป็นเรื่องโปรโมชัน ข้อเสนอทางการเงินที่เอื้อให้กับลูกค้าได้เป็นเจ้าของรถได้ง่ายที่สุด รวมไปถึงการปรับโฉมใหม่ของหน้าร้าน , การอำนวยความสะดวกเรื่องศูนย์บริการ อะไหล่ บริการหลังการขายทั้งหมด

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ได้เห็นตั้งแต่ต้นปีคืออีเวนต์ - โรดโชว์ ยกตัวอย่างงานแบงค์ค็อก มอเตอร์ไบค์ เฟสติวัลที่แต่เดิมจะจัดช่วงปลายเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ก็ขยับมาเป็นกลางเดือนมกราคม

“แม้เศรษฐกิจจะซบเซาแต่เรามั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับการจัดงาน และยอดขายภายในงาน โดยคาดว่ายอดจองบิ๊กไบค์และมอเตอร์ไซค์พรีเมียมจะทำได้กว่า 500 คัน เงินสะพัด 600 ล้านบาท และมีผู้เข้าชมงานกว่า 7 แสนคน” นายณัฐพล ไตรณัฐี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซเคิล คัลเจอร์ โชว์ จำกัด ผู้จัดงาน “แบงค์ค็อก มอเตอร์ไบค์ เฟสติวัล ครั้งที่ 12” (Bangkok Motorbike Festival 2020 หรือ BMF 2020) กล่าว

สำหรับการจัดงานในปีนี้ใช้งบ 15 ล้านบาท และเริ่มวันที่ 15- 19 มกราคม ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ โดยมีค่ายรถเข้าร่วม 15 แบรนด์ ได้แก่ AJ, BMW, Cub House by Honda, ETRAN, Edison Motors, Ducati, Harley-Davidson, Indian, Kawasaki, MV Agusta,Royal Enfield, Triumph, Victory, Yamaha ,Zero Engineering และมีร้านค้าอุปกรณ์ตกแต่งและคอลเลกชันแต่งกายกว่า 60 บูธ มาร่วมล้างสต๊อกด้วยราคาพิเศษที่มีเฉพาะในงาน

“ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน, ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย และ ราคาพืชผลการเกษตรตกตํ่า ทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศซบเซา อย่างไรก็ตามในกลุ่มบิ๊กไบค์ยังมีตัวเลขที่ใกล้เคียงกับปี 2561 หรือประมาณ 29,500 คัน (ม.ค.- พ.ย. 62 )” นายณัฐพล กล่าว 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,538 วันที่ 9 - 11 มกราคม พ.ศ. 2563