ปี 63 "อุตฯยานยนต์"หวังขาย 1 ล้านคัน

02 ม.ค. 2563 | 10:15 น.

อุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2563 ยังคงเป็นปีที่ท้าทาย เพราะมีหลากหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัว ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ทำให้กระทบกับการส่งออกรถจากไทยไปยัง 2 ประเทศคู่ค้านี้

 

ส่วนปัจจัยที่มีผลกับตลาดในประเทศนั้น ก็ต่อเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกที่กระทบกับเศรษฐกิจไทยรวมไปถึงภาวะเงินบาทแข็งค่า ทำให้การส่งออกลดลง ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ

อย่างไรก็ดียังมีสัญญาณบวกที่ค่ายรถหลายค่ายแสดงความมั่นใจว่าจะมีให้เห็น นั่นก็คือการลงทุนจากภาครัฐในโครงการต่างๆ รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้นแล้วแผนงานที่ออกมาจากค่ายรถเอง ก็พยายามผลักดันการขายอย่างเต็มที่ เพราะตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ที่ผ่านมามีการเปิดรถรุ่นใหม่ในราคาที่จับต้องได้ โดยเฉพาะรถในกลุ่มอีโคคาร์ ไม่ว่าจะเป็น นิสสัน อัลเมร่า, มาสด้า 2, ฮอนด้า ซิตี้ ใหม่, มิตซูบิชิ มิราจ, มิตซูบิชิ แอททราจ, โตโยต้า เอทีฟ, โตโยต้า ยาริส เอทีฟ ซึ่งคาดว่าจะทยอยส่งมอบและจะเริ่มเห็นยอดขายตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นไป รวมไปถึงการเตรียมเปิดรถปิกอัพรุ่นใหม่ และรถพลังงานไฟฟ้าทั้งในกลุ่มปลั๊ก-อิน, ไฮบริด, ไฟฟ้า(BEV) เข้ามาให้เลือก

ปี 63 "อุตฯยานยนต์"หวังขาย 1 ล้านคัน

 

ขณะเดียวกันค่ายรถยังเตรียมแคมเปญออกมากระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินกันว่าการแข่งขันในแง่ของข้อเสนอทางการเงินนั้นจะดุเดือดไม่แพ้ปีที่ผ่านมา ส่วนการแก้เกมเกี่ยวกับสถาบันการเงินที่มีความเข้มงวดนั้น ทางค่ายรถก็ปรับให้พนักงานขายสามารถแนะนำหรือหาโปรแกรมนำเสนอรถยนต์ที่เหมาะสมกับลูกค้าให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงจับมือกับพันธมิตรทางการเงินที่มีความหลากหลาย จากเดิมอาจจะมีให้ลูกค้าเลือก 2 ราย ก็มีแผนจะเพิ่มอีก 1-2 รายเพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสในการเป็นเจ้าของรถมากขึ้น

ฟันธงขายรถใกล้เคียงปี 62

ด้านมุมมองจากผู้ผลิตรถยนต์มีความเห็นที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับสถานการณ์ของตลาดรถยนต์ในปีนี้ โดย นายทาเคชิ คาซาฮาระ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่าในปี 2563 ภาพรวมตลาดยังคาดการณ์ไม่ได้ เนื่องจากต้องจับตาดูปัจจัยภายนอก อย่างภาวะเศรษฐกิจโลก ที่มีทั้งสงครามการค้าที่ยังไม่ชัดเจน, การเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐอเมริกา , เบร็กซิทที่จะออกมาในรูปแบบไหน, การประท้วงของฮ่องกงส่วนปัจจัยภายในประเทศคือ ค่าเงินบาทแข็งที่กระทบกับผู้ส่งออกไทย

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2563 ยังมีปัจจัยบวกได้แก่ การเมืองนิ่ง , รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง อาทิ การช่วยเหลือเกษตรกร, อสังหาริมทรัพย์

ส่วนนายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มของตลาดรถยนต์ในปี 2563 น่าจะใกล้เคียงกับปี 2562 ในส่วนของตลาดบนที่มีกำลังซื้ออาจจะยังพอขายได้ แต่ในกลุ่มซับคอมแพ็กต์ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดของสถาบันการเงิน กล่าวคือความต้องการของลูกค้าไม่ได้ลดลง แต่ความสามารถในการซื้อมันขึ้นอยู่กับสถาบันการเงิน หากมีความเข้มงวดมากก็จะกระทบกับยอดขายโดยรวมของตลาดรถยนต์

นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ในปี 2563 น่าจะใกล้เคียงกับปี 2562 หรือประมาณ 1 ล้านคัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ การลงทุนจากภาครัฐ ส่วนความต้องการใช้รถของผู้บริโภคก็ยังมีอยู่ นอกจากนั้นแล้วการที่รัฐประกาศให้นํ้ามันดีเซลบี 10 เป็นนํ้ามันพื้นฐาน ก็จะช่วยให้ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น และทำให้รถปิกอัพขายได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองคือ ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน, หนี้ครัวเรือน

“ปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะเรื่องของไฟแนนซ์เราคงจะตอบคำถามแทนไม่ได้ แต่เชื่อว่า NPL น่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2563 อย่างไรก็ตามค่ายรถก็จะมีกลยุทธ์หรือแนวทางผลักดันการขายที่ดุเดือดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับผู้บริโภคที่มีโอกาสเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุด ขณะที่ฟอร์ดจะเน้นทำความเข้าใจกับลูกค้า คัดเลือกรถที่เหมาะสมกับการใช้งานของลูกค้าให้มากที่สุด”

นายโมริคาซุ ชกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดยังประเมินยาก แต่คาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกน่าจะทรงตัว และรัฐน่าจะมีมาตรการด้านต่างๆและเมกะโปรเจ็กต์ออกมา ทำให้ยอดขายรถในปี 2563 น่าจะเทียบเท่ากับปี 2562

ปี 63 "อุตฯยานยนต์"หวังขาย 1 ล้านคัน

 

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์รวมน่าจะใกล้เคียงกับปี 2562 ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจโลกมีผลกระทบกับไทย เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออก และไทยยังพึ่งพาการท่องเที่ยว อีกหนึ่งปัจจัยคือกำแพงภาษีประเทศคู่ค้า อย่างเวียดนาม ที่จะกระทบกับการส่งออกโดยตรง ส่วนปัจจัยภายในประเทศนั้นยังคงเป็นเรื่องความเข้มงวดของสถาบันการเงิน

“ปี 2563 ตลาดน่าจะทรงตัว แต่ทั้งนี้ต้องลุ้นว่าจะมีข่าวดี อย่างนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่จะมีส่วนช่วย ส่วนค่ายรถยนต์ก็จะมีรุ่นใหม่ๆออกมาเปิดตัวสู่ตลาด ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นตลาดครึ่งปีหลังให้ปรับตัวดีขึ้น ในส่วนของแผนงานซูซูกิก็จะดูว่าตลาดยังไม่มีรถแบบไหน เราพยายามศึกษาและหาความแตกต่าง นอกจากนั้นแล้วเราจะจับมือกับพันธมิตรที่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นด้วย”

ส.ยานยนต์หวั่นกำแพงภาษี

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รักษาการผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2563 ต้องจับตามองเรื่องการตั้งกำแพงภาษีของเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ทั้งนี้เพราะตลาดของทั้ง 2 ประเทศกำลังจะเติบโตและอยากให้ผลิตในประเทศ ทำให้มีมาตรการกีดกันรถที่นำเข้าจากไทย และอินโดนีเซีย ซึ่งไทยต้องมีแผนงานตั้งรับ ขณะที่ยอดผลิตรถยนต์น่าจะอยู่ที่ 2 ล้านคัน แบ่งเป็นการส่งออก 1 ล้านคัน, ในประเทศใกล้เคียงกับปี 2562

“โดยรวมถ้าสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯมีแนวโน้มคลี่คลายและค่าเงินบาทรักษาเสถียรภาพได้ เราประเมินว่าตลาดส่งออกน่าจะ 1 ล้านคันพอกับปี 2562 ส่วนตลาดในประเทศนั้นน่าจะคึกคัก และจะมีรถ xEV (ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, ไฟฟ้า100%) มากขึ้น มีระบบออโตโนมัสเข้ามา และหากไฟแนนซ์มีการจัดระเบียบ ผ่อนคลายความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ก็ประเมินว่าตลาดในประเทศน่าจะมียอด 1 ล้านคัน หรือโดยรวมเทียบเท่ากับปี 2562 แต่หากสหรัฐอเมริกาและจีน ยังทะเลาะกันก็อาจจะลดลงจากนี้ไปบ้างเล็กน้อย”

ปี 63 "อุตฯยานยนต์"หวังขาย 1 ล้านคัน

ขณะที่ความคิดเห็นจากฟากฝั่งกลุ่มอุตสาหกรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดย นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปี 2563 ปัจจัยที่จะมีผลกับการขายรถยนต์คือ เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ, การเมือง, ภัยแล้ง, ปัญหาหนี้ครัวเรือน และสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยประเมินว่ายอดขายในประเทศจะอยู่ที่ 9.5 แสน-1 ล้านคัน

ลุ้นนโยบายรัฐชัดเจน

อีกหนึ่งตัวแปรที่จะมีผลกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2563 คือ การบังคับใช้มาตรฐานไอเสียระดับ EURO5 ในปี 2564 และ EURO 6 ปี 2565 ซึ่งมาตรการดังกล่าวแม้หลายค่ายผู้ผลิตจะแบ่งรับแบ่งสู้ว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปรับปรุงรถยนต์ของตนเองให้สามารถรองรับกับมาตรฐานที่ระบุไว้ แต่ก็ยังมีข้อกังวลใจเกี่ยวกับมาตรฐานนํ้ามันที่หน่วยรัฐยังไม่ได้ประกาศชัดเจนว่าจะบังคับใช้ในปีไหน เพราะหากนํ้ามันไม่รองรับก็จะมีผลกับเครื่องยนต์หรือชิ้นส่วนต่างๆ

นอกจากเรื่องยูโร 5, ยูโร 6 แล้ว ในปี 2563 ยังมีเรื่องที่ต้องจับตามองคือ โครงการยานยนต์ไฟฟ้า ในกลุ่ม BEV ที่แต่เดิมมีผู้ขอรายแรกคือ ฟอมม์ ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ทางบีโอไอประกาศว่า ได้อนุมัติขอรับการส่งเสริมให้กับค่าย เมอร์เซเดส -เบนซ์, สกายเวลล์, เอ็มจี และไมน์ โมบิลิตี ขณะที่อาวดี้ ที่มีข่าวว่าจะเข้ามาลงทุนในไทยก็เป็นอีกหนึ่งรายที่ได้รับการอนุมัติในกลุ่ม ปลั๊ก-อิน ไฮบริด

2ล้อหืดจับ

อีกหนึ่งตัวแปรของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2563 ที่น่าสนใจคือตลาดรถจักรยานยนต์ ที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเริ่มชะลอตัวลง อันเนื่องมาจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปัญหาภัยแล้ง หนี้เสีย เหตุการณ์อุทกภัย และความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ยังลากยาวมาจนถึงปี 2563

ประกอบกับในปี 2563 ตลาดสองล้อจะมีบททดสอบอีกหนึ่งข้อนั่น คือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์รูปแบบใหม่ จากเดิมเก็บตามขนาดเครื่องยนต์ มาเป็นตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยภาษีใหม่จะเริ่มเก็บกับรถที่นำออกจากโรงงานหรือนำเข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

แน่นอนว่ากลุ่มรถที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือรถที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่จำพวก บิ๊กไบค์ขนาดเครื่องยนต์ 1000 ซีซี เป็นต้นไป ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มสูงสุดกว่า 1 แสนบาท อย่างไรก็ดีบางรุ่นบางยี่ห้อที่ผลิตและส่งออกไปยังตลาดยุโรป หรือสหรัฐอเมริกานั้น มีการปรับขึ้นเล็กน้อย เพราะผ่านมาตรฐานยูโร 5 และบางรุ่นก็มีการจ่ายภาษีในอัตราที่สูงอยู่แล้ว ดังนั้นค่ายผู้ผลิตจึงมองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบแต่อย่างใด เช่นเดียวกับในกลุ่มเครื่องยนต์ขนาดเล็ก ค่ายผู้ผลิตจากญี่ปุ่นก็เปิดเผยว่าอาจจะมีการขยับปรับขึ้นในหลักร้อยบาทเท่านั้น

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,536 วันที่ 2 - 4 มกราคม พ.ศ. 2563