สุดยอดนักการตลาดปี 62 อัศวิน เตชะเจริญวิกุล นำทัพต่อกรคู่แข่งโลก

27 ธ.ค. 2562 | 07:45 น.

 

เป็นประเพณีเมื่อใกล้จะผ่านพ้นปี ทีมข่าวการตลาด หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จะคัดสรร นักการตลาดดีเด่น ประจำปี 2562 ปีที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่อึมครึม และผลกระทบรอบด้าน ซึ่งปีนี้มี นักการตลาดที่มีผลงานโดดเด่นในการนำพาธุรกิจเดินหน้าด้วยยุทธศาสตร์ สามารถสร้างแบรนด์ สร้างยอดขาย สร้างการเติบโตให้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืน โดยปีนี้สุดยอดนักการตลาดฐานเศรษฐกิจขอยกให้กับ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และ บมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์

 

การนั่งกุมบังเหียน 2 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ซึ่งมีรายได้รวมกว่า 2.8 แสนล้านบาท และเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของกลุ่มทีซีซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือเป็นความท้าทายสำคัญของอัศวินแต่เขาพิสูจน์ฝีมือด้วยการนำพาองค์กรเติบโตต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จ ล่าสุดเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ยังได้รับรางวัลบริษัทที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย ประจำปี 2019 จากผลสำรวจ Thailand’s Most Admired Company 2019 โดยมีความโดดเด่นในเรื่องการบริหารงานและทีมงาน (Management) จากปีก่อนที่มีคะแนนความนิยมเป็นอันดับ 4

 

อัศวินบอกว่า วันนี้ บีเจซี บิ๊กซี เดินหน้าการทำธุรกิจอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้าบีเจซี บิ๊กซีวันนี้ไม่ได้เติบโตเฉพาะในประเทศไทย แต่ต้องการเติบโตในภูมิภาคอาเซียน ทั้งด้านการผลิต การตลาด การกระจาย การจัดจำหน่าย รวมถึงการบริหารร้านค้าปลีก เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ดี มีคุณภาพไปสู่ผู้บริโภค

 

ขณะที่บีเจซีเดินหน้ารุกขยายการลงทุนต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ส่วนบิ๊กซีมุ่งเน้นการขยายเครือข่ายค้าปลีก การบริการครบวงจรตอบไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล พร้อมจับมือคู่ค้านำสินค้าไทยก้าวไปสู่กลุ่ม CLMV ผ่านการขยายสาขาของบิ๊กซี เช่น บิ๊กซี สาขาปอยเปต กัมพูชา

 

สุดยอดนักการตลาดปี 62  อัศวิน เตชะเจริญวิกุล  นำทัพต่อกรคู่แข่งโลก

สิ่งสำคัญหนึ่งที่บีเจซี บิ๊กซีไม่มองข้ามคือ การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามเทรนด์โลก โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีก ซึ่งอัศวินให้น้ำหนักมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะถือเป็นรอยต่อสำคัญ กับการเข้ามาพลิกโฉมใหม่ให้กับบิ๊กซีดังนั้นภายใต้แนวคิดดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันทำให้เกิดการบูรณาการรอบด้าน เพื่อสร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าไปพร้อมกัน

 

เป้าหมายของบีเจซี บิ๊กซีคือการขยายธุรกิจในอาเซียนให้ครอบคลุมโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว รวมถึงเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมาบีเจซี ได้ขยายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ แล้ว พร้อมกับเดินหน้าผลักดันให้แต่ละประเทศมีความสำคัญที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงานผลิตขวดแก้วในเวียดนาม และล่าสุดที่ใช้งบลงทุนอีกกว่า 1,000 ล้านบาท ในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงซ่อมเตาหลอมใหม่ ที่บางพลี และมีแผนขยายฐานการผลิตใน CLMV เพื่อตอกยํ้าผู้นำด้านการผลิตขวดแก้วในอาเซียน

 

อัศวินบอกว่า ปีนี้บริษัทใช้งบลงทุนทั้งหมดราว 8,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตขวดแก้ว 2,000 ล้านบาท และการขยายสาขาของบิ๊กซี 6,000 ล้านบาท ไม่รวมการลงทุนในต่างประเทศ ส่วนในปีหน้าคาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีก 8,000 - 10,000 ล้านบาทในการขยายการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะมองเห็นถึงโอกาสในการเข้าไปลงทุนอีกมากมาย ทั้งธุรกิจค้าปลีกในสปป.ลาว, กัมพูชา ที่ล่าสุดเข้าไปเปิดบิ๊กซี สาขาปอยเปต ถือเป็นการทดลองระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้มีเสถียรภาพ รองรับการขยายสาขาที่จะมีขึ้นในอนาคต โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนในเมืองหลัก ทั้งพนมเปญ, เสียมราฐ ด้วยงบลงทุน 200-300 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในอีก 1-2 ปี

 

การลงทุนใช้เงินไม่มาก เพราะเรามีการสนับสนุนที่ดีจากพันธมิตร โดยเฉพาะกลุ่มทีซีซี ซึ่งบริษัทมีนโยบายที่ชัดเจนในการซินเนอร์ยีกับบริษัทในเครือ ที่ทำให้เกิดความแข็งแรง ขณะเดียวกันก็จะเดินหน้าคืนหนี้เงินกู้ และเน้นวินัยทางการเงินให้มากขึ้น

 

อัศวินบอกว่า วันนี้สิ่งที่ท้าทายและเป็นกังวลคือ การที่ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น ดังนั้นสิ่งที่บีเจซี บิ๊กซี ต้องเดินหน้าต่อคือ 1. การลงทุนเพิ่ม 2. การมีวินัยทางการเงิน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค ผ่านการเข้าไปส่งเสริมชุมชน และการจัดโปรโมชัน ขณะเดียวกันก็ต้องเดินหน้าเรื่องของการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เพื่อให้ทันกับการเลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมผสานนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ทั้งด้านเทคโนโลยี การตลาด การผลิต และการบริหารจัดการ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทใช้งบลงทุนไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท และยังต้องพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

หน้า 31-32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,534 วันที่ 26-28 ธันวาคม 2562

สุดยอดนักการตลาดปี 62  อัศวิน เตชะเจริญวิกุล  นำทัพต่อกรคู่แข่งโลก