เล็งส่งออกไทยปี 63 โต 3% ยันปี 62 ติดลบไม่เกิน 2%

23 ธ.ค. 2562 | 05:55 น.

พาณิชย์ยันส่งออกไทยทั้งปี 2562 ติดลบไม่เกิน 2% ขณะเป้าปี 2563 รอหารือ “จุรินทร์” เบื้องต้นเล็งขยายตัวได้ 3%

 

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวจากสงครามการค้าและปัจจัยอื่นๆ เช่น เงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศและการส่งออกของไทย และหลายประเทศทั่วโลกหดตัว ขณะที่มีปัจจัยชั่วคราวในสินค้ากลุ่มน้ำมัน และสินค้าเกี่ยวเนื่องที่การส่งออกลดลงอย่างมาก สาเหตุจากการปิดโรงกลั่นในประเทศเพื่อซ่อมบำรุงในช่วงปลายปี ทำให้การส่งออกน้ำมัน เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันกว่า 11 % ลดลงกว่า27%  ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2563 จะกลับมาผลิตได้ตามเดิม

เล็งส่งออกไทยปี 63 โต 3% ยันปี 62 ติดลบไม่เกิน 2%

 

สำหรับการส่งออกของไทยในภาพรวมยังคงรักษาระดับมูลค่าส่งออกได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคที่หดตัวมากกว่าไทย เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น   โดยมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2562   มีมูลค่า 19,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 7.4%  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการส่งออกช่วง 11 เดือนแรกปี 2562(ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่ารวมา 227,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงหรือติดลบ 2.8% ขณะที่การนำเข้าเดือนพฤศจิกายน มีมูลค่า 19,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 13.8% ส่งผลให้เดือนพฤศจิกายนไทยยังเกินดุลการค้า 549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วง 11 เดือนแรก การนำเข้ามีมูลค่ารวม 218,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ติดลบ 5.2%  ไทยยังเกินดุลการค้า 9,009 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

“ภาพรวมการส่งออกปี 2562 ทั้งปีน่าจะติดลบ 2% หรือมีมูลค่า 247,898 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  หากในเดือนธันวาคมส่งออกได้ที่ 20,000-20,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ยืนยันยันว่าทั้งปีจะไม่ติดลบมากไปกว่านี้  ส่วนการส่งออกปีหน้านั้น คงต้องรอหารือกับนาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนซึ่งสนค.ได้ส่งข้อมูลไปแล้ว แต่เชื่อว่าส่งออกปีหน้าน่าจะเป็นบวก ซึ่งหากสามารถส่งออกได้เดือนละ 21,279 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะทำให้การส่งออกขยายตัวที่ 3% หรือมีมูลค่าส่งออกทั้งปีที่ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”

 

สำหรับภาวะการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 25623 ของไทย ในส่วนของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร พบว่ามูลค่าการส่งออกติดลบที่ 3.6%  สินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัว 105.3%  ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ซูดาน จีน กัมพูชา และเวียดนาม ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 10.4 % ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย เป็นต้น

 

ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ติดลบ 37.3% ในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน และสหรัฐฯ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม และเนเธอร์แลนด์  ข้าว ติดลบ 31.4 % ในตลาดจีน แอฟริกาใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์  ยางพารา ติดลบ 18.4% ในตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และบราซิล แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดมาเลเซีย สหรัฐฯ และตุรกี เป็นต้น  รวม 11 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรติดลบ 2.4%

 

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 6.4% โดย สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัว 26.4% ในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว25.9% ในตลาดสหราชอาณาจักร เบลเยียม กัมพูชา จีน และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น  สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ติดลบ 27.2 %  ในตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในปากีสถาน  รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ติดลบ 16% ในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม จีน และซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น  รวม 11 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 1.9%

เล็งส่งออกไทยปี 63 โต 3% ยันปี 62 ติดลบไม่เกิน 2%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ๆได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราวของการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องที่ลดลง ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดหลักติดลบ6.9%  เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐฯ ติดลบ 2.6% สหภาพยุโรปติดลบ 8.2%  และญี่ปุ่นติดลบ 10.9%   ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูง ติดลบ 6.1% เป็นผลมาจากการส่งออกไปเอเชียใต้ อาเซียน-5 ติดลบ 15.2% และ CLMV ติดลบ 11.1% จากการส่งออกสินค้ากลุ่มน้ำมันที่ลดลง อย่างไรก็ตามการส่งออกไปจีนกลับมาขยายตัว 2.3 % สำหรับ ตลาดศักยภาพระดับรอง ติดลบ 12.8%  ตามการส่งออกไปตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS  ติดลบ 26% ทวีปออสเตรเลีย ติดลบ 22% แอฟริกา ติดลบ 19% และลาตินอเมริกา ติดลบ 10% ขณะที่การส่งออกไปตะวันออกกลางขยายตัว 5.9%

 

“มาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562 มีทิศทางไปในแนวทางเดียวกันกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้าและปัจจัยอื่น ๆ แต่สินค้าส่งออกของไทยมีความหลากหลาย และมีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ทำให้สามารถรักษาฐานและขยายการส่งออกไปในประเทศต่าง ๆ ได้ ในช่วงต้นปี 2563 เมื่อการผลิตสินค้ากลุ่มน้ำมันทั้งหมดกลับมาสู่สภาวะปกติ น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกในไตรมาสแรก ทั้งนี้สนค.เตรียมเสนอให้นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เชิญเอกชนมาหารือในกลุ่มย่อยเกี่ยวกับสถานการณ์การส่งออกในปีหน้าเพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์(กรอ.พาณิชย์)ที่มีนายจุรินทร์ เป็นประธานรับทราบสถานการณ์ในปีหน้า