USMCAทุบส่งออกรถยนต์

19 ธ.ค. 2562 | 08:30 น.

เตือนเอกชนไทยรับมือความตกลง USMCA มีผลบังคับใช้ต้นปีหน้า พายุลูกใหม่ซัดส่งออกไทยชะลอตัว สรท.ระบุมีสินค้ามากกว่า 10 รายการที่จะได้รับผลกระทบส่งออกไปสหรัฐฯได้ลดลง จากเม็กซิโก-แคนาดาชิงได้เปรียบแข่งขัน รถยนต์-ชิ้นส่วนตั้งรับแรงกระแทก

 

 

ร่างข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา หรือ (USMCA) ซึ่งจะมาใช้แทนข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2537

ล่าสุดตัวแทนสมาชิกทั้ง 3 ประเทศได้ลงนามความตกลงแล้วเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ณ ประเทศเม็กซิโก คาดหลังจากนี้สภาคองเกรสของสหรัฐฯจะสามารถบรรจุญัตติในการประชุม เพื่อลงคะแนนเสียงผ่านร่างข้อตกลงดังกล่าวได้ภายในสิ้นปีนี้ และคาดความตกลงจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมในต้นปี 2563

รับมือ 2 พายุซัดกระหนํ่า

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(ทูตพาณิชย์) ณ เมืองไมอามี สหรัฐอเมริกาได้วิเคราะห์ว่าในส่วนของประเทศไทยหากข้อตกลง USMCA มีผลบังคับใช้น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และอาจส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เม็กซิโกและแคนาดาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดสหรัฐฯ

ขณะที่ความตกลงการค้าดังกล่าวน่าจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมในต้นปีหน้า ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงที่สินค้าไทย 573 รายการ จะถูกสหรัฐฯระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทยจึงควรเร่งกระบวนการเจรจากับตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯเพื่อให้ยกเลิกการระงับสิทธิของไทยเป็นการเร่งด่วนเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

USMCAทุบส่งออกรถยนต์

 

รถยนต์-ชิ้นส่วนโดนแน่

นายปริญญา เขตคาม อุปนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยจะได้รับผลกระทบจาก USMCA แน่ เพราะในความตกลงด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ใน USMCA ได้เพิ่มสัดส่วนของรถยนต์หรือรถบรรทุกที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าระหว่างกันจะต้องมีสัดส่วนวัตถุดิบที่ผลิตในเขตอเมริกาเหนือไม่น้อยกว่า 75% ซึ่งจะส่งผลให้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ไทยรวมทั้งประเทศในอาเซียนที่เคยส่งตรงให้กับโรงงานในเม็กซิโก หรือสหรัฐฯประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูป รวมถึงทางอ้อมคือส่งชิ้นส่วนให้โรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ในญี่ปุ่นผลิตเป็นชิ้นส่วนรถยนต์สำเร็จรูปแล้วส่งต่อให้เม็กซิโก สหรัฐฯ หรือแคนาดาไปประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปเพื่อค้าภายในกลุ่ม USMCA จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้ทั้ง 3 ประเทศต้องเปลี่ยนแหล่งนำเข้า โดยใช้วัตถุดิบภายในกลุ่มมากขึ้น

“การปรับตัวคือผู้ประกอบการของไทยอาจต้องไปลงทุนผลิตที่เม็กซิโก สหรัฐฯ หรือแคนาดา แต่คงเป็นเรื่องยากเพราะส่วนใหญ่เราไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง ที่ทำได้คือหาลูกค้าและตลาดใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย”

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งออก รถยนต์ของไทยไปตลาดอเมริกา เหนือ (สหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก)คิดเป็นสัดส่วน 10% ของภาพรวม (ปี 2561 ไทยส่งออกรถยนต์นั่งไปเม็กซิโก สหรัฐฯ และแคนาดา มูลค่า 20,508,  7,491 และ 2,102 ล้านบาทตามลำดับ) ข้อตกลง USMCA จะส่งผลกระทบไทยในแง่ที่ 3 ประเทศอาจมีการนำเข้ารถยนต์ระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งต้องดูในรายละเอียดข้อตกลงเพื่อปรับตัวกันต่อไป


USMCAทุบส่งออกรถยนต์

10รายการไทยเสียเปรียบ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากการเปรียบเทียบรายการสินค้าส่งออกของไทย เม็กซิโก และแคนาดาไปตลาดสหรัฐฯ ในมุมการแย่งส่วนแบ่งตลาด ที่ผ่านมามีสินค้าหลายรายการที่เป็นคู่แข่งกัน ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์, เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ, ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง, ยานบกนอกจากรถที่เดินบนรางไฟฟ้า หรือรางรถรางและส่วนประกอบ, ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า, พลาสติก, อุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ทางทัศนศาสตร์และการถ่ายรูป, ของปรุงแต่งทำจากพืชผัก ผลไม้ ลูกนัต หรือจากส่วนอื่นของพืช  เครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบกับเครื่องแต่งกาย

USMCAทุบส่งออกรถยนต์

ทั้งนี้ในปี 2561 ไทยมีการส่งออกสินค้า 10 รายการข้างต้นไปสหรัฐฯมูลค่า 21,948 ล้านดอล ลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เม็กซิโกส่งออกไปสหรัฐฯ 268,968 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแคนาดาส่งออก 122,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากความตกลง USMCA มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบจะทำให้สินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯได้สะดวกและมีความได้เปรียบมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษี ขั้นตอนเงื่อนไขในการส่งออกข้ามพรมแดน การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้สินค้าไทยต้องเร่งหาแนวทางปรับตัวในการส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯในหลายรูปแบบเพื่อเตรียมการรอง รับหากความตกลงมีผลบังคับใช้ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3532 วันที่ 19-21 ธันวาคม 2562