ร้านอาหารโอดต้นทุนขยับรับค่าแรงใหม่

17 ธ.ค. 2562 | 07:05 น.

ธุรกิจร้านอาหารชี้ รัฐปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลกระทบต้นทุนขยับขึ้นเล็กน้อย “ไมเนอร์” ชี้ส่งผลดีระยะยาว ขณะที่ “ซีอาร์จี” เร่งปรับแผนคุม Cost saving หวั่นกระทบภาคการผลิต โยกฐานหนีไปประเทศอื่น

 

นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ รองประธานเจ้าหน้าที่การเงินส่วนกลางและวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านซิซซ์เล่อร์, เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, เบอร์เกอร์คิง ฯลฯ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า หลังจากที่ภาครัฐมีมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของแรงงานทั่วไป โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่มีทักษะพิเศษ ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของค่าแรงที่น้อยกว่า 2% จะส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะสินค้าบางอย่างมีการปรับขึ้นราคา ขณะที่กลุ่มแรงงานที่มีทักษะพิเศษและนายจ้างที่มีการจ้างแรงงานในกลุ่มแรงงานทักษะสูงนั้นประเมินว่าไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากการมีการจ้างงานในอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าแรงงานขั้นต่ำอยู่แล้ว

 

ร้านอาหารโอดต้นทุนขยับรับค่าแรงใหม่

 

สำหรับในส่วนของบริษัทเอง มีการจ่ายค่าจ้างพนักงานสูงกว่าค่าแรงขั้นตํ่าอยู่แล้ว ดังนั้นการเพิ่มค่าแรงขั้นตํ่าจึงเป็นผลกระทบทางอ้อมเพียงเล็กน้อย โดยปัจจุบันบริษัทมีค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงานของในเครือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายและถูกควบคุมอยู่ที่ประมาณ 15% จากยอดขายทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งการปรับเพิ่มนั้นมีผลกระทบกับทางโครงสร้างต้นทุนที่น้อยมาก แต่การพัฒนาค่าครองชีพของคนฐานรากจะเป็นผลดีกับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและภาพรวมอุตสาหกรรมในระยะกลางถึงระยะยาว

 

ขณะที่แหล่งผู้บริหารระดับสูงจาก บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี กล่าวว่า สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ มองว่าจะกระทบในแง่ของต้นทุนของแรงงานที่สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยในส่วนของบริษัทเองมีแผนรับมือกับต้นทุนดังกล่าวด้วยการพัฒนาความสามารถของพนัก งานเพิ่มศักยภาพในการทำงาน โดยวิธีการเพิ่ม productivity และการเพิ่มทักษะที่หลากหลายของแรงงาน อาทิ ยกตัวอย่างพนักงานหน้าร้านที่ก่อนนี้อาจจะทำหน้าที่แคชเชียร์เพียงอย่างเดียว ก็อาจจะเพิ่มส่วนงานอื่นๆ เพิ่มเติม อย่างงานรับออร์เดอร์ หรืองานเสิร์ฟ ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนพนักงานต่อสาขาลดลงแต่ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น และยังช่วยให้พนักงานมีการเรียนรู้งานได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาตัวเองได้อีกทางหนึ่ง

ร้านอาหารโอดต้นทุนขยับรับค่าแรงใหม่

นอกจากนี้ยังมีแผนการทำ Cost saving ลดต้นทุนในด้านอื่นๆ โดยนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่อช่วยประหยัดต้นทุน ประหยัดเวลาได้มากขึ้น เพิ่ม productivity ได้มากขึ้น และการเข้าไปดูแลพนักงานขององค์กร สร้างความรัก และ ผูกพันต่อองค์กรให้มากขึ้น เพื่อลดอัตราการเข้า-ออก (turn over) ของพนักงาน

 

 

อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวมองว่าโดยภาพรวมแล้วน่าจะเป็นภาพเสียมากกว่าเนื่องจากอาจส่งผลต่อการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ที่ต้นทุนค่าแรงถูกกว่า สำหรับในธุรกิจร้านอาหารซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้กำลังคนในการดำเนินธุรกิจเป็นหลัก เนื่องจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็นงานบริการที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนได้ ในกรณีของบริษัท หรือ องค์กรใหญ่น่าจะกระทบไม่มากเนื่องจากสามารถบาลานซ์ต้นทุนในส่วนอื่นๆ ทดแทนกับต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นได้ หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการได้

 

หน้า 31-32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,531 วันที่ 15-18 ธันวาคม 2562

ร้านอาหารโอดต้นทุนขยับรับค่าแรงใหม่