ดัชนีความเชื่อมั่นModern Trade ปรับตัวลดลงต่ำสุดรอบ5เดือน

29 ต.ค. 2562 | 11:14 น.

หอการค้า ชี้ ดัชนีความเชื่อมั่นModern Trade ไตรมาส3 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาสแตะ 51.0 เชื่อ Q4 จะดีทำให้ GDPทั้งปี โต 2.8%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade ประจำไตรมาส 3 ปี 2562 จากกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการจำนวน 92 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่มีความกังวลต่อสถานการณ์ภัยธรรมชาติ  การส่งสัญญาณการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความขัดแย้งของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะการประท้วงในฮ่องกง และการท่องเที่ยวชะลอตัวตามฤดูกาล ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การบริโภคไม่ขยายตัวส่งผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ Modern Trade ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.0 ซึ่งเป็นดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาส แต่มีดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.4 และชื่อว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นModern Trade  ปรับตัวลดลงต่ำสุดรอบ5เดือน

ทั้งนี้ สถานการณ์ของธุรกิจ Modern Trade ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าในช่วงไตรมาส 4 ความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจออนไลน์จะดีขึ้นในระดับ 52.9  ส่วนในเรื่องของการแข่งขันในเรื่องราคาสินค้าและจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการอยู่ในระดับที่ลดลง 32 และการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการให้ความกังวลอยู่ในระดับ 34.8 เป็นต้น

“ศูนย์พยากรณ์ฯมองว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ไปแล้วและจะปรับตัวขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 โดยมองว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ 3.1% และตลอดทั้งปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.8% สอดคล้องกับการประเมินของที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.”

อย่างไรก็ตาม หอการค้ายังได้สอบถามถึงผู้ประกอบการ ประสบปัญหาใดบ้างโดยส่วนใหญ่ ชี้แจงว่าได้รับผลกระทบเรื่องขอค่าแรงขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและรายได้ของธุรกิจพร้อมกันนี้ นโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ของภาครัฐ ในปัจจุบันและสิทธิประโยชน์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโมเดิร์นเทรด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลคือการลดข้อจำกัดในการใช้บริการมาตรการชิมช็อปใช้ เช่น การเพิ่มร้านค้ารายย่อยให้ครอบคลุมและเพียงพอ รวมทั้งเพิ่มแอพเป๋าตังในทุกแคชเชียร์ นอกจากนี้ยังอยากให้รัฐบาลเพิ่มการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระจายให้กับทุกModern Tradeแบบเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อของภาคครัวเรือน

ส่วนผลกระทบจากกรณีสหรัฐประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ จีเอสพี สินค้าไทย 573 รายการ โดยคาดว่าจะมีผลกระทบคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50-60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,800-2,000 ล้านบาท และเชื่อว่าผู้ประกอบการไทยจะสามารถปรับตัว หาตลาดใหม่ทดแทนได้ รวมถึงการดูแลต้นทุน และราคาสินค้าได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถดูแลค่าเงินอยู่ในกรอบที่เหมาะสมใกล้เคียงคู่แข่ง ดังนั้นเชื่อว่าการถูกตัดสิทธิ จีเอสพี จะยังไม่มีผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจไทย และคาดว่าจีพีดี ปีนี้จะขยายเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.8% ในปีนี้