ศึกการค้ามะกัน-อียู สาหัสกว่าแนวรบด้านจีน

29 ต.ค. 2562 | 07:36 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

ข้อมูลจาก สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) ชี้ว่า ในปีที่ผ่านมา (2561) สหรัฐฯนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป (อียู) คิดเป็นมูลค่า 683,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่นำเข้าสินค้าจากจีนคิดเป็นมูลค่า 557,900 ล้านดอลลาร์  ส่วนการส่งออกนั้น (รวมทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ)  สหรัฐฯส่งออกไปยังตลาดอียู คิดเป็นมูลค่า 574,500 ล้านดอลลาร์  แต่ส่งออกไปยังตลาดจีนเพียง 179,200 ล้านดอลลาร์ จะเห็นได้ว่า อียูเป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯทั้งในการแง่การนำเข้าและส่งออก และหากสหรัฐอเมริกาตัดสินใจเปิดศึกการค้ากับอียูอีกด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์เชื่อว่า ผลกระทบจะรุนแรงยิ่งกว่าสงครามการค้าที่สหรัฐฯมีกับจีนหลายเท่า

ศึกการค้ามะกัน-อียู สาหัสกว่าแนวรบด้านจีน

ไม่เพียงเท่านั้น ศึกการค้ากับอียูยังน่าจะทำให้สหรัฐฯเป็นฝ่ายสูญเสียได้มากกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากมูลค่าการค้าที่มีระหว่างกันชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯและอียูเป็นคู่ค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (เมื่อมองอียูเป็นกลุ่มตลาดร่วมเดียวกัน) มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯและอียูเมื่อรวมทั้งการค้าสินค้าและบริการเข้าด้วยกันนั้น มากกว่ามูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนถึง 70% (ข้อมูล ณ ปี 2561)

 

ตลอดเวลาที่สหรัฐฯเปิดศึกเผชิญหน้าทางการค้ากับจีนและโต้ตอบกันด้วยการตั้งกำแพงภาษีนั้น ในแนวรบด้านอียู สหรัฐฯก็ไม่ว่างเว้นการขู่คุกคาม โดยในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว สหรัฐฯเปิดฉากด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจากอียู (รวมทั้งคู่ค้าอีกหลายประเทศ) ทำให้อียูตอกกลับด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ หลายรายการในอัตราเพิ่ม 25% คิดเป็นวงเงินรวมถึง 2,800 ล้านดอลลาร์  ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐฯยังประกาศขึ้นภาษีอากาศยาน สินค้ากลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ของอียูอีก10-25% เพื่อเป็นการชดเชยความเสียหายจากการที่อียูให้เงินอุดหนุนกิจการของบริษัทแอร์บัส ทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศของสหรัฐฯได้รับความเสียหาย  นอกจากนี้ หลายฝ่ายกำลังจับตา ‘วาระจุดชนวน’ คือ การตัดสินใจของสหรัฐฯช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เกี่ยวกับการขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากอียู ว่าจะเป็นประเด็นนำไปสู่การเปิดสงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบหรือไม่  เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับอียู 

 

เซซิเลีย มาล์มสตรอม

เซซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการการค้าของอียู แม้จะยืนกรานว่า การคุกคามประเทศคู้ค้าด้วยมาตรการทางภาษีไม่ใช่ทางของอียู แต่หากสหรัฐฯเริ่มก่อน อียูก็พร้อมจะตอกกลับด้วยวิธีการเดียวกัน  ดังนั้น นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลากรสินค้านำเข้าจากอียูในอัตราสูงขึ้น เช่นกรณีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมเมื่อเดือนมิถุนายน 2561  อียูก็จะตอบโต้ด้วยบัญชีรายการสินค้าของสหรัฐฯที่อียูจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มแบบสวนหมัดไม่ให้เสียเปรียบกัน

 

เฟรดเดอริก เอริกสัน ผู้อำนวยการสถาบัยวิจัย ECIPE ให้มุมมองว่า การเปิดศึกการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เริ่มส่งผลกระทบที่ขยายวงกว้าง และสร้างความสูญเสียให้กับเศรษฐกิจของสหรัฐฯมากอยู่แล้ว (แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะอ้างมาตลอดว่า จีนจะต้องเป็นฝ่าย “จ่าย” ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น) ถ้าหากปลายปีนี้ สหรัฐฯตัดสินใจเดินหน้าเปิดแนวรบการค้าอีกด้านกับอียูด้วยการตั้งกำแพงภาษีสูงขึ้นอีก ก็จะส่งผลฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายที่ชะลอตัวอยู่แล้วให้ต้องทรุดลงไปอีก  

 

ศึกการค้ามะกัน-อียู สาหัสกว่าแนวรบด้านจีน

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ถ้าหากสหรัฐฯและอียูเริ่มเปิดฉากสาดมาตรการภาษีใส่กัน สิ่งที่ตามมาซึ่งจะเป็นผลกระทบที่รุนแรงและชัดเจนที่สุดคือ ต้นทุนสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นที่จะกระทบต่อผู้บริโภคในที่สุด รวมทั้งต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย เนื่องจากรูปแบบธุรกิจของบริษัทข้ามชาติในปัจจุบันมีห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกันในหลายประเทศ ทำให้กำแพงภาษีที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบกับทุกฝ่าย

 

กำแพงภาษีที่สูงขึ้นจะทำให้บริษัทข้ามชาติรายใหญ่ของสหรัฐฯเอง อยู่ในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บรายแรกๆ ของสงครามการค้า นอกจากนี้ ข้อได้เปรียบต่างๆที่สหรัฐฯเคยมีเคยได้และเป็นกุญแจความสำเร็จในการบุกตลาดต่างประเทศตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็จะสูญเสียไป ตลาดใหญ่ที่บริษัทอเมริกันเคยมีก็จะปรับลดหดลง และยังจะต้องสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับประเทศอื่นๆที่เป็นคู่แข่งอีกด้วย