"หม่อมเต่า"สวนหมัด"ทรัมป์"อ้างมาตรฐานแรงงานตัดGSP

27 ต.ค. 2562 | 12:15 น.

‘หม่อมเต่า’เผยกรณีสหรัฐฯ ตัดจีเอสพี ยืนยันไทยคุ้มครองสิทธิแรงงานทุกคนยึดหลักมาตรฐานสากล

รมว.แรงงาน เผยกรณีสหรัฐฯ จะตัดจีเอสพีไทย ยืนยัน กระทรวงแรงงานและหน่วยเกี่ยวข้องบูรณาการคุ้มครองแรงงานยึดหลักสากลมาตลอด ทั้งการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดระดับความสำเร็จมากเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานโดยปรับสถานะเป็นเทียร์ 2 การคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงและได้ปลดใบเหลืองไอยูยู การให้สัตยาบันพิธีสารอนุสัญญาฉบับที่ 29 และฉบับที่ 188 พร้อมเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายให้สัตยาบันฉบับที่ 87 และ 98

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับ นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (จีเอสพี) ของไทยในอีก 6 เดือน โดยอ้างว่าประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากลได้นั้น ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

โดย รมว.แรงงาน ได้กล่าวถึงผลการดำเนินการคุ้มครองแรงงานของกระทรวงแรงงานเพื่อให้เป็นไปและสอดคล้องตามหลักมาตรฐานสากลว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการดูแลคุ้มครองแรงงานทุกคน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์และความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยทุกภาคส่วนได้บูรณาการการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากผลการดำเนินงาน ทำให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จมาก (Significant Advancement) ของสถานการณ์การขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ในปี 2560 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

 

ม.ร.ว.จัตุมงคลฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ยังได้ปรับสถานการณ์ปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยจาก Tier 2 Watch List มาเป็นระดับ Tier 2 และสหภาพยุโรป หรืออียู ประกาศปลดใบเหลืองไอยูยู ในส่วนของการรับรองอนุสัญญาฯ ต่อไอแอลโอ กระทรวงแรงงานได้ให้สัตยาบันพิธีสารส่วนเสริมปี ค.ศ.2014 ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ.1930 และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อบังคับใช้กฎหมาย การช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากแรงงานบังคับ และกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานหรือบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งการยื่นจดทะเบียนให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานภาคประมง ค.ศ.2007 ต่อไอแอลโอ เพื่อคุ้มครองแรงงานประมงให้ได้รับสิทธิด้านสุขภาพ ประกันสังคม และความปลอดภัยในการทำงาน โดยจะมีผลบังคับใช่ในวันที่ 18 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ขณะเดียวกันยังได้พิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 87 และ 98 เกี่ยวกับการรวมตัวตั้งเป็นสหภาพแรงงานและเจรจาต่อรอง ซึ่งขณะนี้กำลังปรับปรุงกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและกฎษฎีกา รวมทั้งรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อให้การดูแลคุ้มครองแรงงานทุกคนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามหลักมาตรฐานสากลต่อไป