‘โรบอทคาเฟ่’ สั่งหุ่น2หมื่นตัว ผุดศูนย์เรียนรู้

19 ต.ค. 2562 | 23:35 น.

 

โรบอท คาเฟ่ฯ ร่วม “ยูบีเทค” ยักษ์หุ่นยนต์ขนาดเล็กจีน ผุดศูนย์เรียนรู้โรบอทเอ็ดดูเคชั่นในไทย เปิดเด็กไทยเรียนรู้ผ่านการเล่น เล็งนำเข้าหุ่นยนต์ 20,000 ตัว มีให้เลือกเล่น 30-40 แบบตามต้องการ ตั้งแต่ต่อเลโกจนถึงระดับแอดวานซ์เขียนโปรแกรม ตั้งเป้าเปิดขายแฟรนไชส์ 1,000 แห่งภายใน 3 ปี

นางสาวปรางพิสุทธิ์ แดงเดช ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง โรบอท คาเฟ่ เรสเตอรองส์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้ได้ร่วมมือกับบริษัท ยูบีเทค โรโบติกส์ฯ ผู้ผลิตหุ่นยนต์ขนาดเล็ก เพื่อการบริการและหุ่นยนต์เพื่อการเรียนรู้รายใหญ่จากประเทศจีนเพื่อขยายศูนย์การเรียนรู้โรบอทเอ็ดดูเคชั่นประเทศไทย โดยเบื้องต้นโรบอท คาเฟ่ เรสเตอรองส์ มีคำสั่งซื้อหุ่นยนต์เพื่อการเรียนรู้ จากยูบีเทค เข้ามา 20,000 ตัว ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดส่งเข้าเป็นล็อตๆ ตามการขยายสาขา

ขณะนี้มีสาขานำร่องที่ลงทุนไปแล้ว 2 แห่ง คือที่เชียงใหม่ และสีสม คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีสาขาเพิ่มเป็น 20 แห่ง โดยขณะนี้มีผู้สนใจซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์เข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเป้าหมายต้องการขยายสาขาเพิ่มเป็น 1,000 แห่ง ภายใน 3 ปี 

‘โรบอทคาเฟ่’  สั่งหุ่น2หมื่นตัว  ผุดศูนย์เรียนรู้

สำหรับแนวคิดของ “โรบอท คาเฟ่ เรสเตอรองส์” จะมีรูปแบบเป็นที่พักผ่อนและเรียนรู้สำหรับครอบครัว ส่วนแรกจะมีร้านกาแฟ-อาหาร ที่ใช้คอนเซ็ปต์ตักอาหารเองตามต้องการ โดยจะมีหุ่นยนต์บริการครุยเซอร์ ของยูบีเทคให้การต้อนรับ ลดจำนวนคนในการปฏิบัติการลงไป หุ่นยนต์ครุยเซอร์ มีคุณสมบัติเต้นได้ พูดได้ 30 ภาษา สามารถโต้ตอบได้ ชำระเงินได้ นอกจากนี้หุ่นยนต์ครุยเซอร์ยังมีคุณสมบัติตรวจจับใบหน้า ซึ่งทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูล พฤติกรรมลูกค้า ซึ่งทำให้สามารถจัดเก็บข้อมูลบิ๊กดาต้า เพราะใช้วิเคราะห์และวางแผนจัดการอาหาร และเครื่องดื่ม ให้ตรงตามพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่
ละสาขา

ปี 2563 บริษัทมีแผนพัฒนาหุ่นยนต์ครุยเซอร์ ให้สามารถให้ข้อมูลการท่องเที่ยว จองที่พักและบริการ ได้ โดยบริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด เป็นพาร์ตเนอร์กับ Booking.com ขณะเดียวกันยังเปิดทดลองให้บริการจองโรงแรมในเขตกรุงเทพฯ และบริการจองตั๋วเครื่องบิน

ส่วนที่ 2 คือ ศูนย์กลางเรียนรู้สำหรับเด็ก โดยจะมีหุ่นยนต์สำหรับเรียนรู้ ภายใต้แนวคิดเล่นและเรียน โดยจะมีหุ่นยนต์ทั้งหมด 30-40 แบบให้เด็กเลือกเล่นตามต้องการ ตั้งแต่เด็กเล็กที่เริ่มจากการต่อเลโก จนถึงระดับแอดวานซ์ ที่ใช้การเขียนโปรแกรม เพื่อสั่งให้หุ่นยนต์โต้ตอบ

นางสาวปรางพิสุทธิ์ กล่าวต่อไปอีกว่าบริษัทยังได้รับคัดเลือกจากยูบีเทค โรบอติกส์ ให้ทำตลาดหุ่นยนต์ในไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาหุ่นยนต์รับสั่งกาแฟให้กับอเมซอน ซึ่งหุ่นยนต์บริการสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้หลากหลาย ทั้งหุ่นยนต์ต้อนรับในโรงแรม หรือหุ่นยนต์ต้อนรับในร้านอาหาร เนื่องจากมีฟังก์ชันรองรับการใช้งานหลายภาษา นอกจากนี้ยังทำหุ่นยนต์เพื่อการศึกษาให้กับกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการส่งเสริมความรู้และพัฒนาการของเด็ก

อนึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า ตลาดโรโบติกทางการศึกษาจะมีมูลค่าถึง 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2566 หุ่นยนต์สำหรับเด็กจากบริษัทต่างๆ ทั่วโลกเกิดขึ้นมากมายการวางตำแหน่งเป็นการเรียนรู้จากการเล่นของเล่นประเภทหุ่นยนต์ที่เลือกสรรมา เพื่อช่วยนำทางเด็กเข้าสู่โลกของการเขียนโปรแกรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยกลุ่มเป้าหมายคือ เยาวชนอายุ 3-13 ปี (อนุบาล 1-ม.3)

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,515 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562

‘โรบอทคาเฟ่’  สั่งหุ่น2หมื่นตัว  ผุดศูนย์เรียนรู้