พายุร้ายพัดผ่าน ถอดบทเรียนญี่ปุ่นรับมือภัยพิบัติ

14 ต.ค. 2562 | 00:38 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

พายุไต้ฝุ่น ‘ฮากีบิส’ ที่พัดผ่านประเทศญี่ปุ่นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ ฝนที่ตกหนักทำให้แม่น้ำ 14 สายทั่วประเทศเอ่อท่วม จนถึงขณะนี้มียอดครัวเรือนที่ยังตกอยู่ในภาวะน้ำท่วม 1,283 หลังคาเรือน ยอดผู้เสียชีวิตจนถึงช่วงค่ำวันอาทิตย์ (13 ต.ค.) ซึ่งเป็นตัวเลขของทางการมีจำนวน 14 คน สูญหาย 11 คน และบาดเจ็บ 187 คน แต่สื่อท้องถิ่นของญี่ปุ่นรายงานว่า ยอดจริงของผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 33 คน  

พายุร้ายพัดผ่าน ถอดบทเรียนญี่ปุ่นรับมือภัยพิบัติ

รัฐบาลได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ เรือ และทหารหลายพันนาย เข้าสู่พื้นที่ประสบภัยทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้างอยู่ในพื้นที่เนื่องจากถูกน้ำท่วม กองควบคุมอัคคีภัยในกรุงโตเกียวซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลสาธารณภัย รายงานว่าได้รับแจ้งเหตุหญิงชราคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุตกลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ที่ความสูง 40 เมตรเหนือพื้นดิน ขณะที่เธอกำลังได้รับความช่วยเหลือออกจากพื้นที่น้ำท่วมในเขตเมืองอิวากิ จังหวัดฟุกุชิมะ

พายุร้ายพัดผ่าน ถอดบทเรียนญี่ปุ่นรับมือภัยพิบัติ
 

พายุร้ายพัดผ่าน ถอดบทเรียนญี่ปุ่นรับมือภัยพิบัติ

ทั้งนี้ ตัวเลขยอดรวมผู้เสียชีวิตจากพายุไต้ฝุ่นฮากีบิสที่เผยแพร่โดยสำนักงานบริหารจัดการภัยพิบัติและอัคคีภัยของญี่ปุ่น จำนวน 14 คน เป็นตัวเลขประเมินไปในทางน้อยกว่าความเป็นจริงเนื่องจากความระมัดระวังในการให้ข่าว แต่สื่อท้องถิ่นของญี่ปุ่นรายงานว่า ยอดที่แท้จริงสูงกว่านั้นมาก โดยสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า  มีผู้เสียชีวิตแล้ว 33 คน และสูญหาย 19 คน

พายุร้ายพัดผ่าน ถอดบทเรียนญี่ปุ่นรับมือภัยพิบัติ

น้ำท่วมสูงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่นที่จังหวัดนากาโนะ แม่น้ำชิคุมะมีน้ำล้นเอ่อท่วมหลายชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ โดยระดับน้ำสูงถึงชั้นสองของบ้านเรือน  เฮลิคอปเตอร์ต้องเข้าช่วยเหลือประชาชนที่หนีน้ำขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน ภาพถ่ายจากทางอากาศในจังหวัดนากาโนะ ยังแสดงให้เห็นรถไฟความเร็วสูงหลายขบวนจอดแช่น้ำ  ขณะที่จังหวัดฟุกุชิมะและมิยากิ หลายพื้นที่น้ำท่วมถึงหลังคาบ้านเรือน ทำให้หน่วยกู้ภัยต้องเร่งนำเรือเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้าง  แม้แต่เขตเมืองโตเกียว สองฝั่งแม่น้ำทามะก็ตกอยู่ในสภาพเมืองบาดาล มีน้ำท่วมสูงเช่นกัน

 

มีรายงานว่า บ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจากพายุทำให้ไม่มีไฟฟ้าใช้ในขณะนี้ มีจำนวน  376,000 ครัวเรือน และไม่มีน้ำประปาใช้จำนวน 14,000 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม บริการรถไฟหลายเส้นทางในกรุงโตเกียวเริ่มกลับมาให้บริการแล้วเมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์  รวมทั้งหลายเที่ยวบินเข้า-ออกกรุงโตเกียวเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

การแจ้งเตือนล่วงหน้าและการกระจายข่าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งระบบรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น ทำให้ความสูญเสียทั้งในชีวิตและทรัพย์สินลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเหตุภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่นในอดีต เช่นในปี 1958 (พ.ศ. 2501) ซูเปอร์ไต้ฝุ่นครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,200 คนและมีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 500,000 ครัวเรือน


 

พายุร้ายพัดผ่าน ถอดบทเรียนญี่ปุ่นรับมือภัยพิบัติ

ถอดบทเรียนรับมือจากอดีต

รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมการรับมือพายุไต้ฝุ่นฮากีบิสอย่างรัดกุม มีการออกประกาศเตือนประชาชนล่วงหน้าหลายวันเพื่อเตรียมการรับมือ ซักซ้อมความพร้อม เตรียมอพยพ และปฏิบัติการกู้ภัย ส่วนหนึ่งเนื่องจากการตรวจวัดทางอุตุนิยมวิทยาพบว่า พายุดังกล่าวซึ่งเป็นพายุไต้ฝุ่นลูกที่ 19 ที่พัดขึ้นฝั่งญี่ปุ่นในปีนี้ มีความรุนแรงระดับ ‘ซูเปอร์ไต้ฝุ่น’ จึงเป็นเรื่องที่น่าตระหนกและจำเป็นต้องเตรียมรับมือมากกว่าพายุทั่วไป และอีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเพิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการรับมือพายุไต้ฝุ่นฟ้าใส (Faxai) ที่เพิ่งถล่มญี่ปุ่นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่โดยเฉพาะที่จังหวัดชิบะ ครั้งนั้นรัฐบาลถูกตำหนิอย่างหนักว่า ปฏิบัติการล่าช้า ไม่มีการเรียกประชุมเจ้าหน้าที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจากที่พายุพัดขึ้นฝั่งแล้ว

 

ดังนั้น ในครั้งนี้รัฐบาลจึงจัดชุดปฏิบัติการล่วงหน้าเพื่อพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากพายุไต้ฝุ่นฮากีบิส  นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี แถลงด้วยตัวเองในการประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา (ก่อนพายุฮากีบิสจะขึ้นฝั่งญี่ปุ่น 2 วัน) ว่า ครั้งนี้รัฐบาลปฏิบัติงานในเชิงรุก และพร้อมรับมือ ทีมงานของกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องก็ตื่นตัวพร้อมปฏิบัติหน้าที่ มีการเรียกประชุมเจ้าหน้าที่หน่วยงานและกระทรวงเพื่อร่วมกันบริหารจัดการภัยพิบัติในวันที่ 10 ต.ค. เพื่อซักซ้อมการเตรียมพร้อม เช่น การส่งกำลังพลและเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย การเตรียมการของหน่วยงานท้องถิ่น และการเตรียมไฟฟ้าสำรองสำหรับภาวะฉุกเฉิน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งเตือนและกระจายข่าวเป็นภาษาต่างประเทศถึง 11 ภาษาผ่านทางแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนเพื่อให้มั่นใจว่า ชาวต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่นจะรับรู้ข่าวสารและพร้อมรับมือกับพายุฮากีบิสเช่นกัน และนอกจากการเผยแพร่กระจายข่าวผ่านทางกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังมีการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์ของหน่วยงานต่างๆ เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าวและการแจ้งเตือนเป็นภาษาต่างประเทศด้วย  

 

ข่าวที่เกี่ยวเนื่อง

โดนฮากิบิสถล่มหนัก น้ำท่วมแต่ไม่มีขยะสักชิ้น!