น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ‘รัชกาลที่ ๙’ จารึกในใจไทยชั่วกาล

13 ต.ค. 2562 | 02:10 น.

“...เศรษฐกิจพอเพียงนั้นเขาตีความว่าเป็นเศรษฐกิจชุมชน หมายความว่าให้พอเพียงในหมู่บ้าน หรือในท้องถิ่น ให้สามารถที่จะมีพอกิน เริ่มด้วย พอมี พอกิน พอมีพอกินนี้ได้พูดมาหลายปี ๑๐ กว่าปีมาแล้วให้พอมีพอกิน แต่ว่าพอมีพอกินนี้ เป็นเพียงเริ่มต้นของเศรษฐกิจ เมื่อปีที่แล้วบอกว่า ถ้าพอมีพอกิน คือ พอมีพอกินของตัวเองนั้น ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา...” พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒

น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ‘รัชกาลที่ ๙’ จารึกในใจไทยชั่วกาล น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ‘รัชกาลที่ ๙’ จารึกในใจไทยชั่วกาล

ย้อนกลับไป ณ วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๕.๕๒ น. ชาวไทยช๊อก!! ทั้งแผ่นดิน เมื่อ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต”...วันนี้แม้กาลเวลาจะผ่านพ้นมาบรรจบครบ ๓ ปี เชื่อว่าความรู้สึกเหล่าพสกนิกรเหมือนเพิ่งผ่านไปเมื่อวันวาน ยังคงน้อมรำลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ ดำรงชีวิตตามรอยบาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ยึดพระองค์เป็นต้นแบบของความกตัญญู ซื่อสัตย์ มีวินัย พอเพียงจนถึงร่วมกันทำความดี 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ  ที่ทรงมีต่อคนไทยมากมาย จึงขอนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย บางส่วนจาก “หนังสือธรรมดีที่พ่อทำ” ของ DMG BOOKS ที่รวบรวมประมวลความรู้สึกของคณะองคมนตรีที่ถวายงานอย่างใกล้ชิด มาย่อความเล่าขานให้คนไทยได้รับทราบในบางแง่มุมของพระองค์  เพราะหากจะกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณทั้งมวลพื้นที่นี้คง สาธยายได้ไม่หมด...  

ซึ่งผู้ที่ได้ถวายงานใกล้ชิดกับพระองค์แต่ละคน ถ่ายทอดออกมาในลักษณะที่ไม่ต่างกันนัก...โดยเห็นถึงความมีพระวิริยะ อุตสาหะ ความเพียร ตลอดจนพระเมตตาที่เปี่ยมล้น ทนเหน็ดเหนื่อยทำงานทุ่มเทให้กับประชาชนทั้งสิ้น

น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ‘รัชกาลที่ ๙’ จารึกในใจไทยชั่วกาล

  พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ..หรือพ่อหลวงของคนไทย พระองค์ทรงครองใจคนไม่ใช่ครองแผ่นดิน...จากวันนั้นกว่า ๗๐ ปีที่ทรงครองราชย์ผ่านวิกฤติการณ์มามากมาย แต่ทรงยอมเหน็ดเหนื่อยอย่างแสนสาหัสนั่นไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อความสุขของประชาชนคนไทยเป็นที่ตั้ง จึงมีพระราชกระแสรับสั่งที่ว่า “หากประชาชนไม่ละทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะละทิ้งประชาชนได้อย่างไร” ทำให้เรียกได้ว่าไม่มีแห่งหนใดในประเทศไทยที่พระเจ้าอยู่หัวไม่เคยย่างพระบาทไปถึง ไปเห็นถึงความทุรกันดารของพื้นที่ ความลำบากแร้นแค้นที่เกิดขึ้น  และสิ่งเหล่านั้นนั่นเองที่ผลักดันให้เกิดโครงการพระราชดำริมากมาย 

  “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือกปร. ได้บอกเล่าถึงคำสอนของพ่อหลวงที่ประทับอยู่ในหัวใจคือพระราชดำรัสที่ว่า “มาอยู่กับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากความสุขที่จะมีร่วมกันในการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น”

พระองค์มีวิธีสอนโดยมีพระราชดำรัสว่า “มองทุกอย่างที่ฉันทำ จดทุกอย่างที่ฉันพูด สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด”...ทำให้เกิด ..“คำสอนของพ่อสู่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”.. ซึ่งทางกปร.ได้รวบรวมโครงการที่มีทั้งหมด จำนวน ๔,๘๑๐ โครงการ ภาคกลาง จำนวน ๗๙๘ โครงการ ตะวันออกเฉียงเหนือ ๑,๒๐๖  โครงการ  เหนือ ๑,๘๓๘ โครงการ ใต้ ๙๔๐ โครงการ อื่นๆ ๒๘ โครงการ ... แล้วชนรุ่นหลังอย่างเราท่านลองนึกกันดูว่าไปเยี่ยมเยือนกันมากี่โครงการ  ซึ่งแต่ละโครงการในปัจจุบันมันคือผลที่เกิดจากความทุ่มเทพระวรกายของพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ จนเกิดเป็นรูปธรรมเกิดประโยชน์ต่อคนไทยทั้งสิ้น คนรุ่นหลังคงต้องค่อยๆไปสืบค้นดูว่ามีโครงการอะไรบ้างในการเป็น “กษัตริย์นักพัฒนา” ผู้นำพาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีรูปแบบการดำเนินการชัดเจนมิใช่เป็นเพียงวาทกรรม..

โดยโครงการพระราชดำริแห่งแรก เกิดขึ้นเมื่อ ปี ๒๔๙๕ ที่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็ก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โปรดให้ตัด “ถนนสายห้วยมงคล” ออกสู่ตลาดหัวหินเพื่อให้เกษตรกรมีถนนเพื่อนำผลิตผลเกษตรออกไปสู่ตลาด ถนนสายนี้ถือเป็น “ถนนมงคล” สายแรกเริ่มเป็นเส้นทางบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ที่ทอดไปสู่ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” อื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาคในเวลาต่อมา 

น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ‘รัชกาลที่ ๙’ จารึกในใจไทยชั่วกาล

 

ส่วนอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการสุดท้ายที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลที่ ๙ และเป็นอ่างเก็บน้ำ/เขื่อนโครงการสุดท้ายที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก รัชกาลที่ ๙ โดยกรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๕๙ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโครงการเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๐

แต่โครงการที่น่าสนใจชวนไปเยือน “โครงการช่างหัวมันตามพระราชดำริ” เดิมที เป็นโครงการสุดท้ายในพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙  เริ่มดำเนินการตั้งเเต่ปี ๒๕๕๒ โดยพระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินจำนวน ๒๕๐ ไร่ บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ที่นี่เป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจของ อ.ท่ายาง มอบให้ภาครัฐเเละชาวบ้านร่วมกันดูเเล เเละได้เเลกเปลี่ยนเเนวคิดเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากร ทำให้ชาวบ้านแห่งนี้มีอาชีพมั่นคงอยู่อย่างมีความสุขและที่สำคัญไปชม “บ้านของพ่อ” เรียบง่ายจนไม่เหมือนบ้านของพระเจ้าอยู่หัว หรือจะไปเยือนโครงการดอยตุง ที่ช่วยพลิกวิถีชีวิตชาวเขาหลายชาติพันธุ์ให้อยู่อย่างมั่นคง...และไม่ขอสรุปอะไรมากแต่ขอจบด้วยพระบรมราโชวาทของพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ “การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่”...

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,513 วันที่ 13 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2562