ยกเครื่องแผนฟื้นฟู กู้วิกฤติบินไทย

15 ต.ค. 2562 | 00:30 น.

 

          สถานะของการบินไทยในวันนี้ ซึ่งมีภาระหนี้สินรวมกว่า 2.45 แสนล้านบาท และการขาดทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท  แม้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2561) การบินไทยจะสามารถลดภาระหนี้สินไปได้กว่า 4.8 หมื่นล้านบาท  แต่ท่ามกลางการแข่ง ขันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมการบิน หากการบินไทยยังบริหารจัดการตามแผนที่ทำไว้เดิม ก็คงไม่แคล้วที่จะมีผลประกอบการ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนสะสม ต่อเนื่องต่อไปอีก

 

แก้ปัญหาหนี้สินต่อทุนสูง

         นี่เองจึงทำให้ขณะนี้การบินไทยจึงอยู่ระหว่างยกเครื่องแผนฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งเป็นการทบ ทวนแผนฟื้นฟูที่ดำเนินการอยู่แล้วเดิม ปรับให้สอดรับกับสถานการณ์ของโลกและธุรกิจนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นสิ่งที่ สุเมธ ดำรงชัยธรรม ดีดีการ บินไทย จะต้องเร่งดำเนินการ คือ การปรับโครงสร้างธุรกิจ ปรับโครงสร้างทางเงิน และทบทวนแผนจัดหาฝูงบิน 38 ลำ มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท

        โจทย์ใหญ่ของการบินไทยในวันนี้คือ การบินไทยมีส่วนทุนที่น้อย แต่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน D/E สูงมาก โดยตัวเลขล่าสุดหลังสิ้นไตรมาสของปีนี้ การบิน ไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเกิน 8 เท่า ดังนั้นหากจะให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ การบินไทยจะต้องลดหนี้ให้ลงไปอีกจำนวนหนึ่ง การลดสินทรัพย์ หรือแม้ แต่การเพิ่มส่วนทุน  ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง

 

กู้3.2หมื่นล.เป็นทุนหมุนเวียน

          หากเทียบกับสายการบิน อื่นๆ การบินไทยมีทุนจดทะเบียน 2.69 หมื่นล้านบาท จัดว่าน้อยกว่าสายการบินชั้นนำในระดับเดียวกันมาก อาทิ เจแปนแอร์ไลน์สมีทุนจดทะเบียน 5.24 หมื่นล้านบาท ออล นิปปอน แอร์เวย์ส มีทุนจดทะเบียน 9.21 หมื่นล้านบาท คาเธ่ย์แปซิฟิค มีทุนจดทะเบียน 6.80 หมื่นล้านบาท

           ดังนั้นเมื่อเทียบความสามารถกำลังการผลิตของทุนจดทะเบียนของการบินไทยที่มีน้อยกว่า การบินไทยสามารถผลิตภายใต้สัดส่วนผลผลิต (ASK) ต่อทุน ได้มากกว่าคาเธ่ย์แปซิฟิค 3 เท่า ออล นิปปอน แอร์เวย์ส 6 เท่า และเจแปนแอร์ไลน์ส 12 เท่า จึงเลี่ยงไม่ได้ที่การบินไทยต้องใช้เครื่องมือ เงินกู้ ในการขยายงาน และเป็นทุนหมุนเวียน

 

ยกเครื่องแผนฟื้นฟู  กู้วิกฤติบินไทย

 

        ทำให้ในปีงบประมาณ 2563 การบินไทย มีแผนจะกู้เงินราว 3.2 หมื่นล้านบาท ตามกรอบวงเงินที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะหรือ สบน. อนุมัติ  เพื่อมารองรับการลงทุนและเพื่อเป็นการ Refinance หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการตามปกติ การปรับปรุงอุปกรณ์ และการซ่อมบำรุงเครื่องบิน (ไม่รวมการจัดหาฝูงบินใหม่ซึ่งวงเงินดังกล่าวเป็นแผนการ ก่อหนี้ใหม่  ใกล้เคียงกับวงเงินตามแผนการก่อหนี้ของปีที่ผ่านมา และไม่รวมถึงหนี้เก่าที่ครบกำหนดต้องใช้คืน


 

 

       อีกทั้งการบินไทย ยังให้ความสำคัญในการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่ง สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีเงินสดในมือรวมกับ Revolving Credit Line คิดเป็น 13.4% ของประมาณการรายได้รวมทั้งปี

 

6 เดือนทบทวนแผนเสร็จ

         นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย เผยว่า การทบทวนแผนฟื้นฟูขณะนี้สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การปรับโครงสร้างธุรกิจ การปรับโครงสร้างองค์กร ให้สอดคล้องกับกำลังพลที่ต้องใช้ในแต่ละส่วน  และแผนจัดซื้อฝูงบินใหม่ ที่จะต้องทบทวนให้เสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้เงินที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างทางการเงินต่อไป ซึ่งก็มีหลายวิธีการที่สามารถดำเนินการได้  ทำให้เกิดเสถียร ภาพในการดำเนินธุรกิจ

        “แผนฟื้นฟูเดิมมีโครงอยู่แล้ว แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยน ทั้งปัจจัยภายนอก หรือแม้แต่การแข็งค่าของเงินบาท ดังนั้นการจะทำให้ได้ตามเป้าหมายในแผนฟื้นฟู ก็ออกแบบวิธีการทำงานใหม่ ที่มีความเหมาะสม เพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย เช่น การจัดหาฝูง บิน ตอนนี้เราอยู่ระหว่างวิเคราะห์การตลาดใหม่หมด เพื่อสอดรับการจัดหาฝูงบินใหม่ที่เหมาะสม การจัดหามีหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งหมด ใช้วิธีเช่าก็ได้ ซึ่ง ทุกวันนี้ตลาดการบินเปลี่ยน การเช่าเครื่องบิน 6 เดือนมาทำการบินก็ทำได้นายสุเมธ กล่าว

 

           ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย กล่าวว่าการที่บอร์ดสั่งทบทวนแผนจัดซื้อฝูง บินใหม่ของการบินไทยในขณะนี้ เกิดจากสมมติฐานที่เปลี่ยนไป เนื่องจากแผนจัดหาฝูงบินเดิม จัดทำในช่วงที่ไม่มีผลกระทบสงครามการค้า (เทรดวอร์) แต่ปัจจุบันมีปัจจัยดังกล่าวที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

รวมทั้งยังมีปัจจัยฐานะทางการเงินขององค์กรที่ต้องทบทวน ปัญหาการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน และเส้นทางบินที่ไม่ได้รับความนิยมแล้ว การทบทวนให้รอบคอบ ดีกว่าดึงดันใช้แผนเดิมก็อาจมีความเสี่ยงสูง

 

ตั้งเป้าลดรายจ่ายลง 20%

        ขณะเดียวกันการบินไทยมีเป้าหมายระยะสั้น (3 เดือนสุดท้ายของปีนี้) คือ การเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการขายตั๋ว โครงการอี-คอมเมิร์ซ ช็อปปิ้ง และควบคุมค่าใช้จ่าย โดยจะลดค่าใช้จ่ายบางรายการที่ไม่จำเป็น และไม่มีผลต่อคุณภาพในการให้บริการลงอีก 10% การหารือกับพนักงานลดวันหยุด 1 วัน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายการทำงานล่วงเวลา (โอที) เป็นต้น และยังต้องมองการแก้ปัญหาการขาดทุนของสายการบินไทยสมายล์ โดยเพิ่มการใช้เครื่องบินให้ได้เป็น 10 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน ก็จะทำให้สายการบินถึงจุดคุ้มทุนในการปฏิบัติการบิน

      ขณะที่แผนระยะยาว การ บินไทยเตรียมเพิ่มเครื่องมือทาง การตลาด เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีความเคลื่อนไหว เช่น ลูกค้าสะสมรอยัลออคิดพลัส ROP โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น การเน้นเรื่องดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง การปลดระวาง จำหน่ายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ รวมไปถึง เพิ่มรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ครัวการบิน และศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO)

ทั้งหมดเป็นการทบทวนแผนฟื้นฟูธุรกิจของการบินไทยที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ

 

รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,513  วันที่ 13-16 ตุลาคม 2562

ยกเครื่องแผนฟื้นฟู  กู้วิกฤติบินไทย