ไทยจับตาเกาหลีรุกทำ FTA 3 ชาติอาเซียน

09 ต.ค. 2562 | 07:58 น.

กรมเจรจาการค้าฯชี้เกาหลีใต้รุกเจรจาเอฟทีเอสองฝ่ายกับ 3 ชาติสมาชิกอาเซียน “มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์-อินโดฯ” หวังยกระดับการค้า ลงทุน ชี้ไทยไม่เสียเปรียบมาก จากยังมีเอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้เป็นตัวช่วย แต่สั่งจับตาพิเศษ

กรณีสำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้ รายงานอ้างถ้อยแถลงของ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ว่าเกาหลีใต้พยายามผลักดันการเจรจาการค้าเสรี(FTA)ระดับทวิภาคี(2 ฝ่าย)กับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ให้ได้ข้อสรุปก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 ที่นครปูซาน เกาหลีใต้ ในเดือนพฤศจิกายน 2562 

 

ทั้งนี้แม้เกาหลีใต้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย และมีเอฟทีเอเกาหลีใต้-อาเซียน แต่เกาหลีใต้ต้องการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสมาชิกอาเซียนเป็นรายประเทศผ่านการทำเอฟทีเอเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่มีกระแสปกป้องทางการค้า และสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ซึ่งหากการเจรจาเอฟทีเอข้างางต้นประสบความสำเร็จจะทำให้เกาหลีใต้มี FTA กับคู่ค้าสำคัญ 5 อันดับแรกของเกาหลีใต้ในอาเซียน คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์

 

เรื่องดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ”สอบถามไปยังนางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ(จร.) กระทรวงพาณิชย์  ได้รับการชี้แจงว่า  การผลักดันการเจรจาเอฟทีเอระดับทวิภาคีของเกาหลีใต้กับ 3 ประเทศอาเซียนข้างต้น(มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย)ทั้งที่มีความตกลงเอฟทีเอในนามอาเซียน(10ประเทศ)กับเกาหลีใต้อยู่แล้วในปัจจุบัน  และความตกลงได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี 2552 เหตุผลหลักมีความเป็นไปได้ที่เกาหลีใต้อาจมองว่าการยกระดับ( Upgrade) ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้อาจคืบหน้าไม่ทันใจ เพราะต้องรอให้อาเซียนทั้ง 10 ประเทศพร้อม  ดังนั้นจึงหันไปเจรจาเอฟทีระดับทวิภาคีกับประเทศที่เกาหลีมองว่า ยังมีโอกาสเข้าไปเปิดตลาด และลงทุน

ไทยจับตาเกาหลีรุกทำ FTA 3 ชาติอาเซียน

 

“ในส่วนของไทยปัจจุบันมีเอฟทีเอกับเกาหลีใต้นามอาเซียนกับเกาหลีใต้ ไม่มีเอฟทีเอทวิภาคีไทย-เกาหลีใต้ ซึ่งที่เขาไม่เจรจาทำเอฟทีเอทวิภาคีกับไทยอาจมองว่าปัจจุบันมีญี่ปุ่น และจีนเข้ามาลงทุน และเป็นคู่ค้าหลักของไทย  เขาอาจเข้ามาลำบาก อย่างไรก็ดีไทยก็เปิดรับในการขยายการค้า การลงทุนกับเกาหลีใต้อยู่แล้ว ขณะที่เอฟทีเออาเซียน-เกาหลีก็กำลังจะอัพเกรดเอฟทีเอกันอยู่แล้ว ดังนั้นหากเกาหลีใต้ไปมีเอฟทีเอต่างหากกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ก็ไม่น่าจะมี value added (สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม)มากนัก ตัวอย่างที่ผ่านมาแม้ชาติอาเซียนซึ่งรวมทั้งไทยมีเอฟทีเอระดับทวิภาคีต่างหากกับประเทศคู่เจรจา เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ตอนหลังก็มาทำในนามอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาเพราะผลประโยชน์ร่วมมีมากกว่า อย่างไรก็ดีการเจรจาเพื่อทำเอฟทีเอระดับทวิภาคีของเกาหลีกับทั้ง 3 ประเทศข้างต้นคงต้องเช็ครายละเอียดว่าเป็นอย่างไร”

ไทยจับตาเกาหลีรุกทำ FTA 3 ชาติอาเซียน

 

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ช่วง 8 เดือนแรกปี 2562 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของไทย มีมูลค่าการค้า 2 ฝ่ายรวม  2.89 แสนล้านบาท โดยไทยส่งออก 1.02 แสนล้านบาท ไทยนำเข้า 1.86 แสนล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าเกาหลีใต้  8.41 หมื่นล้านบาท

ไทยจับตาเกาหลีรุกทำ FTA 3 ชาติอาเซียน

 

 สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปเกาหลีใต้ได้แก่ น้ำตาลทราย ,เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า ส่วนสินค้านำเข้าของไทยจากเกาหลีใต้ 5 อันดับแรก ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์, เคมีภัณฑ์, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ