“อนุทิน” นัดสรุปทางออก “สายสีส้ม” 10 ต.ค.ก่อนชงครม. 

08 ต.ค. 2562 | 08:54 น.

“รองนายกฯอนุทิน” สั่งหน่วยงานเคลียร์ตัวเลขการเงินสายสีส้มตะวันตกให้นิ่งก่อนชง ครม.เสนอแนวทางประมูล ยันแนวทางแยกสัญญาก่อสร้าง – เดินรถมีความเหมาะสมกว่า รัฐกู้เงินเองมีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า ย้ำไม่ได้บีบบอร์ดรถไฟลาออก  เปิดช่องยืดระยะเวลาลงนามหลัง 7 พ.ย.หากทั้งสองฝ่ายยินยอม

 

วันที่ 8 ต.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม - บางขุนนนท์) ซึ่งได้มีการหารือกันในเรื่องการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 ซึ่งโครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) เมื่อรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้มีรัฐบาลใหม่ซึ่งกระทรวงคมนาคมก็มีการพิจารณาและมีแนวคิดใหม่ที่นำเสนอซึ่งควรมีการทบทวนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินโครงการและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่จะมาใช้บริการ

 

นายอนุทิน กล่าวว่า แนวคิดที่มีการเสนอคือการแยกสัญญาในการลงทุนงานก่อสร้างกับสัญญาการเดินรถ น่าจะเป็นวิธีการที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามข้อมูลที่มีการเสนอในที่ประชุมวันนี้ยังมีตัวเลขที่ไม่ตรงกันทางฝ่ายกระทรวงคมนาคมมองว่าการแยกสัญญาการก่อสร้างและการเดินรถดีกว่า ส่วนกระทรวงการคลังให้ข้อมูลว่าในเรื่องนี้มีการเสนอมาแล้วในบอร์ดพีพีพีให้มีการรวมสัญญากันดังนั้นต้องมาดูในเรื่องผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อโครงการที่รัฐจะได้เป็นสำคัญ

 

ทั้งนี้ในการพิจารณาตัวเลขอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return : IRR) ที่หน่วยงานต่างๆมีการคิดมาได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าวิธีการคำนวณยังไม่ตรงกัน จึงให้หน่วยงานต่างๆไปปรับตัวเลขให้ตรงกันให้แล้วเสร็จ โดยจะมีการประชุมพร้อมกันในวันพฤหัสบดีที่ 10 ต.ค.นี้ โดยเป็นการหารือกันในส่วนของหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงคมนาคม ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ได้มีการนำเสนอตัวเลขต่างๆก่อนหน้านี้โดยมายืนยันตัวเลขนี้และเอาไปเปรียบเทียบกันในทุกสมมุติฐานเพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุดเพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตัดสินใจแนวทางในการเปิดประมูลโครงการต่อไป

 

 “ส่วนตัวผมมองว่าเราแยกสัญญาดีกว่าเพราะก็ทำกันมาแบบนี้ตลอดก็ไม่มีปัญหาอะไร การแยกสัญญายังเป็นการกระจายความเสี่ยงได้ด้วย ขณะเดียวกันก็มีการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น เนื่องจากคนที่จะมารับจ้างการทำงานอยู่ในวงกว้าง ซึ่งเหมาะกับเศรษฐกิจแบบนี้ ที่ช่วยให้เกิดการขยายงานก่อสร้างออกไป ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องแนวคิดส่วนตัวของผม แต่ผมไม่ได้ตัดสินใจคนเดียวต้องดูข้อมูลและข้อเสนอจากทุกฝ่ายด้วยว่าข้อมูลที่มีการวิเคราะห์ออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งต้องดูผลตอบแทนที่ภาครัฐจะได้เป็นสำคัญและไม่ใช่เหตุผลที่รัฐต้องมีการควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่ม ขณะที่ รฟม.ก็มีความเชี่ยวชาญในการควบคุมงานก่อสร้างงานในลักษณะนี้ได้อยู่แล้วการแยกสัญญาจึงไม่มีผลต่อการควบคุมงาน” นายอนุทิน กล่าว

 

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่าโครงการในลักษณะนี้รัฐต้องเสียเงินในการลงทุนงานโยธาอยู่แล้วแต่ว่าเราจะดูว่าจะให้เกิดการประมูลในลักษณะใด เงินที่รัฐลงไปต้องเกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจให้มากรอบมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยการกู้เงินของภาครัฐมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าภาคเอกชนอยู่แล้ว โดยมีตัวอย่างโครงการการกู้เงินในโครงการสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี) ที่รัฐกู้เงินได้โดยต้นทุนต่ำดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 2% หรือไม่เกิน 2% แต่เอกชนต้นทุนการเงินอยู่ที่ 4 - 5% ซึ่งต้นทุนเรื่องการเงินตรงนี้ทำให้มูลค่าการลงทุนรวมของโครงการต่างกันเป็นหลักหมื่นล้านบาท

 

“ผมไม่ได้จะรื้อโครงการแต่ต้องการให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด ส่วนตัวผมมองว่าเราแยกสัญญาดีกว่าเพราะก็ทำกันมาแบบนี้ตลอดก็ไม่มีปัญหาอะไร การแยกสัญญายังเป็นการกระจายความเสี่ยงได้ด้วย ขณะเดียวกันก็มีการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น เนื่องจากคนที่จะมารับจ้างการทำงานอยู่ในวงกว้าง ซึ่งเหมาะกับเศรษฐกิจแบบนี้ ที่ช่วยให้เกิดการขยายงานก่อสร้างออกไป ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องแนวคิดส่วนตัวของผม แต่ผมไม่ได้ตัดสินใจคนเดียวต้องดูข้อมูลและข้อเสนอจากทุกฝ่ายด้วยว่าข้อมูลที่มีการวิเคราะห์ออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งต้องดูผลตอบแทนที่ภาครัฐจะได้เป็นสำคัญและไม่ใช่เหตุผลที่รัฐต้องมีการควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่ม ขณะที่ รฟม.ก็มีความเชี่ยวชาญในการควบคุมงานก่อสร้างงานในลักษณะนี้ได้อยู่แล้วการแยกสัญญาจึงไม่มีผลต่อการควบคุมงาน”นายอนุทินกล่าว