กังขาค่าเช่าท่อร้อยสาย กลุ่มโทรคมนาคมคาใจกทม.ไม่เปิดเผยราคา

06 ต.ค. 2562 | 01:20 น.

 

ผู้ประกอบการโทรคมนาคม 7 ราย พร้อมยื่นแสดงความจำนงเช่าท่อใต้ดินกรุงเทพธนาคมหลังนับหนึ่งยื่นข้อเสนอวันสุดท้ายดีเดย์ 9 ..นี้ ชี้มีข้อแม้เรื่องราคาที่ยังไม่เปิดเผยถ้าถูกกว่าทุกรายยอมหักเสา

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ส่งหนังสือถึงกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ให้เริ่มต้นนับหนึ่งโครง การวางสายสื่อสาร เหตุผลเนื่อง จากเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal : RFP) เพื่อคัดเลือกผู้ใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม โครงการนําสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการใช้การลงทุน และการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินหรือกับโครงสร้างพื้นฐานหน่วยงานของรัฐ

ล่าสุด กรุงเทพธนาคม ได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการจำนวน 61 รายทั้งภาครัฐและเอกชน สำรวจความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสาร ให้ผู้สนใจแสดงความ ประสงค์เข้ามาภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 พร้อมเตรียมออกแพ็กเกจจูงใจ เปิดกว้างรับข้อเสนอทุกราย

อย่างไรก็ตาม “ฐานเศรษฐกิจได้สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมแสดงความคิดเห็นตรงกันว่า   เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายยื่นแสดงความจำนงปริมาณการใช้ท่อร้อยสาย แต่เชื่อว่าทุกรายมีข้อท้วงติงค่าเช่าท่อร้อยสาย ทำไมกรุงเทพธนาคม ถึงไม่เปิดเผยข้อมูล ถ้าราคาค่าเช่าท่อร้อยสายถูกกว่าของทีโอที ผู้ประกอบการโทรคมนาคมยินดีที่จะเช่าใช้บริการ

 

 

ตอนนี้ปัญหาหลัก คือ ค่าเช่าใช้ท่อร้อยสาย เพราะกรุงเทพธนาคม กำหนดอัตรา ค่าเช่า 7,000-9,000 บาทต่อ ไมโครดักต์ ต่อกิโลเมตรต่อเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชนกำหนดราคา 9,650 บาทต่อซับดักต์ต่อกิโลเมตรต่อเดือน (1 ซับดักต์ สามารถรองรับท่อร้อยสายสื่อสารขนาดเล็กได้ 3 ไมโครดักต์) อัตราค่าเช่าท่อยังสูงกว่า ทีโอที

ทุกค่ายมีข้อแม้เรื่องราคา ถ้าอัตราค่าเช่าของกรุงเทพธนาคมถูกกว่าของ ทีโอที ทุกคนยอมหักเสาลงใต้ดิน เพราะตอนนี้ไม่สามารถไปพาดสายบนเสาไฟฟ้าได้แล้ว ส่วน ทีโอที ก็ต้องปรับราคาแข่งขันกันเพราะธุรกิจในยุคนี้ไม่ได้ผูกขาดรายใดรายหนึ่ง

 

กังขาค่าเช่าท่อร้อยสาย  กลุ่มโทรคมนาคมคาใจกทม.ไม่เปิดเผยราคา

 

อย่างไรก็ตามนายกิติศักดิ์  อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที กล่าวว่า ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 61 ราย เมื่อวันที่ 18 กันยายน ขั้นตอนหลังจากที่ได้รับทราบความประสงค์ของผู้ประกอบการแล้ว จะเชิญผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะใช้ท่อร้อยสายสื่อสารของบริษัท มาประชุมร่วมกันถึงรายละเอียดและข้อเสนอต่างๆ ซึ่งทุกขั้นตอนจะดำเนินการตามประกาศ กสทช. (เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการใช้ การลงทุน และการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินหรือกับโครงสร้างพื้นฐานหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บริการโทรคมนาคมซึ่งเมื่อได้ข้อเสนอและเงื่อนไขในเชิงพาณิชย์และเทคนิคที่ชัดเจนแล้ว ก็จะนำไปหารือร่วมกับกสทช.เพื่อกำหนดอัตราค่าตอบแทนการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารในอัตราที่เป็นธรรมต่อไป โดยอาจจะมีรูปแบบที่จูงใจผู้ประกอบการ อาทิ กรณีการเช่าท่อหลายท่อ จะได้อัตราค่าเช่าที่ตํ่ากว่าการเช่าท่อเดียว การเช่าท่อในระยะเวลาที่ยาว จะได้รับอัตราค่าเช่าที่ตํ่ากว่าการเช่าในระยะที่สั้น เป็นต้น

 

ก่อนหน้านั้นผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ทั้งหมด 7 ราย จาก กสทช. ซึ่งมีผู้ใช้ บริการรวมกันมากกว่า 70 ล้านราย อันได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (บริษัทลูกของเอไอเอส) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (บริษัทลูกดีแทคบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด, บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือถึงพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ในฐานะประธานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอให้พิจารณาให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกรายมีโอกาสเข้าถึงบริการท่อร้อยสายสื่อสารของหน่วยงานของรัฐโดยตรงจนไปสู่การเริ่มต้นนับหนึ่งอีกรอบ

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,511 วันที่ 6-9 ตุลาคม 2562

กังขาค่าเช่าท่อร้อยสาย  กลุ่มโทรคมนาคมคาใจกทม.ไม่เปิดเผยราคา