“มาสด้า3 โฉมใหม่” งานศิลปะที่ขับสนุก

05 ต.ค. 2562 | 04:05 น.

เปิดหน้าท้าชนกันเต็มๆ สำหรับรถยนต์นั่งในกลุ่มคอมแพ็กต์คาร์ หรือ ซี-เซ็กเมนต์ ซึ่งตลาดนี้ปีปีหนึ่งขายรวมกันไม่เยอะครับประมาณ 5-7 หมื่นคัน จากรถ 4 รุ่นคือ ฮอนด้า ซีวิค โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส มาสด้า 3 และนิสสัน ซิลฟี 

แบรนด์หลังนั้นขายตามมีตามเกิด ได้ยอดหลักสิบคันต่อเดือน ส่วน 2 แบรนด์แรกต้องแข่งกันเป็นที่ 1 โดยหลังการเปิดตัวของ “โคโรลล่า อัลติส โฉมใหม่”โตโยต้าตั้งเป้าหมายไว้เดือนละ 2,300 คัน แต่ยังห่างกับ “ฮอนด้า ซีวิค” ที่ขายเกือบ 3,000 คันต่อเดือน (ยอด 7 เดือนของปี 2562 ยังขายดีกว่าปี 2561)

“มาสด้า3 โฉมใหม่” งานศิลปะที่ขับสนุก

ขณะที่ “มาสด้า3 โฉมใหม่” มองสถานการณ์ขาดและตั้งเป้าของตัวเองไว้แบบสมเนื้อสมตัวที่ 600 คันต่อเดือน

ด้วยความนิยมรถอเนกประสงค์ประเภทเอสยูวี ส่งผลให้ตลาดคอมแพ็กต์คาร์เล็กลงเรื่อยๆ แต่ทิ้งไม่ได้ครับกับรถระดับโกลบัลโมเดล ต้องทำมาแข่งขันกันจริงจัง ใครอ่อนแอ(อย่างที่เห็น)ก็แพ้ไป สุดท้ายเหลือ 3 ค่ายที่พัฒนาจริงจัง และโปรดักต์ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ในเจเนอเรชันล่าสุด            

อัลติส ใหม่ ภายใต้แพลตฟอร์ม TNGA ก็ไม่ธรรมดา พร้อมขุมพลังหลากหลายให้เลือกตามกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเครื่องยนต์เบนซิน 1.6,1.8 ลิตร และไฮบริด ส่วนฮอนด้า ซีวิค มี 1.5 เทอร์โบ เป็นพระเอกกับรุ่นเครื่องยนต์ 1.8 ลิตรคอยระวังอยู่ด้านล่าง       

“มาสด้า3 โฉมใหม่” งานศิลปะที่ขับสนุก

“มาสด้า3 โฉมใหม่” งานศิลปะที่ขับสนุก

 

มาสด้า 3 โฉมใหม่ น่าเสียดายที่ไม่ได้วางเครื่องยนต์เบนซินใหม่ “สกายแอกทีฟ เอ็กซ์” แต่ยังใช้บล็อกเดิมแล้วอัพเกรดใหม่ พร้อม 2 ตัวถังคือ ฟาสต์แบ็ก(หรือแฮตช์แบ็กเดิม) กับซีดานที่ขายราคาเท่ากัน              

ลีลาการออกแบบยังเป็นเอกลักษณ์ที่หาตัวจับยาก ใครมองผ่านๆแวบเดียวก็รู้ว่านี่คือ “มาสด้า”

“มาสด้า3 โฉมใหม่” งานศิลปะที่ขับสนุก

ภายใต้แนวคิด Less is More ออกแบบรถให้เรียบง่ายดูสะอาดตา อย่างภายนอกไม่มีเส้นสายกรีดคม แต่ใช้ความเว้าความโค้งปะทะกับแสงตกกระทบ ส่งให้รถดูมีชีวิตชีวา ภายในห้องโดยสารลดปุ่มที่ไม่จำเป็นออกไป อย่างช่องแอร์ออกแบบซ่อน ตำแหน่งเหนียมอายตํ่าๆ อยู่บนแผงคอนโซลหน้า ต่างจากรถรุ่นอื่นๆ ที่ต้องทำช่องแอร์ให้เตะลูกตา

ผมชอบแนวคิดตรงคอนโซลกลาง โดยมาสด้าย้ายช่องวางแก้วนํ้าไปชิดแผงคอนโซลหน้า แล้วเหลือที่ว่างเป็นที่วางแขนพร้อมช่องเก็บของด้านล่าง มีความอเนกประสงค์เพิ่มขึ้น พร้อมซ่อนช่องต่อ USB ไว้อีกหนึ่งจุด  

“มาสด้า3 โฉมใหม่” งานศิลปะที่ขับสนุก

“มาสด้า3 โฉมใหม่” งานศิลปะที่ขับสนุก

รุ่นใหม่รถมีจุดศูนย์ถ่วงตํ่าลง ลองวัดระยะตํ่าสุดจากพื้น (Ground Clearance) เหลือแค่ 135 มม.(ลดลง 20 มม.) เบาะนั่งคนขับปรับให้เตี้ยได้สุดๆขณะที่การนั่งเป็นผู้โดยสารด้านหลัง จะรู้สึกเหมือนจมๆ ลงไปอีก ด้วยพื้นที่ประตูเต็มๆและเหลือกระจกไว้นิดเดียว (โดยเฉพาะรุ่นฟาสต์แบ็ก)  

มาสด้า 3 โฉมใหม่ เปลี่ยนช่วงล่างหลังจากอิสระมัลติลิงก์ เป็นแบบคานทอร์ชันบีม จุดประสงค์หลักเพื่อลดนํ้าหนักตัว และเพิ่มพื้นที่ด้านหลังให้มากขึ้น ทั้งตำแหน่งผู้โดยสารและพื้นที่เก็บของด้านหลัง 

“มาสด้า3 โฉมใหม่” งานศิลปะที่ขับสนุก

 

ขณะที่ความยาวตัวถังฟาสต์แบ็กสั้นกว่าเดิม10 มม. แต่ซีดานยาวขึ้น 80 มม. แต่ยืดล้อหน้า-หลังออกไปสุดๆ จนได้ระยะฐานล้อเพิ่มขึ้นจาก 2,700 มม.เป็น 2,725 มม.(เท่ากันทั้ง 2 ตัวถัง) 

อย่างไรก็ตาม ด้วยการพัฒนาใหม่แม้มาสด้าพยายามรีดนํ้าหนักเต็มที่แล้วแต่รถยังหนักกว่าเดิม 10-15 กก.(ส่วนหนึ่งเพราะใส่ฟีเจอร์ใหม่ๆ มาเพียบ)

เรื่องช่วงล่างด้านหลังที่เปลี่ยนแนวคิดใหม่ ผมว่าไม่ได้ลดทอนบุคลิกการขับขี่อันมีชื่อเสียงของมาสด้าลงเลย ตัวรถกับคนขับยังเสมือนละลายเป็นหนึ่งเดียวกัน การตอบสนองของรถในการเข้า-ออกโค้งเฉียบขาด พวงมาลัยสั่งงานได้กลมกล่อม สมรรถนะการควบคุมและช่วงล่างดีเกินความคาดหวัง     

“มาสด้า3 โฉมใหม่” งานศิลปะที่ขับสนุก

“มาสด้า3 โฉมใหม่” งานศิลปะที่ขับสนุก    

ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ระเบิดพลังมากไม่ได้ เพราะโดนมาตรฐานไอเสียกำหนดไว้ อย่างโฉมใหม่ปล่อย CO2 149 กรัม/กม. ถือว่าเฉียดฉิวเพราะถ้าเลย 150 กรัม/กม.ขึ้นไปจะเสียภาษีสรรพสามิตอีกอัตราหนึ่ง โดย มาสด้า 3 โฉมใหม่ ยังรองรับแก๊สโซฮอล์ E85 ทำให้โดนภาษี 20% (เท่ากับ อัลติส 1.8 ลิตร)

กำลังเท่าเดิม 165 แรงม้า แต่แรงบิดเพิ่มขึ้นจาก 210 เป็น 213 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด จริงๆเรี่ยวแรงไม่ขี้เหร่ครับ ขับสบายๆ วิ่งนอกเมืองเกียร์ก็ฉลาดพอในการชิฟต์ดาวน์ เร่งรอบส่งกำลังให้แบบฉลุย เพียงแต่หลายคนบ่นเสียดายว่า ทำรถ(ช่วงล่าง)ดีขนาดนี้แล้วอยากให้ขุมพลังของมาสด้า3 โฉมใหม่ มันจี๊ดจ๊าดกว่านี้อีกนิด             

ด้านอัตราบริโภคนํ้ามันมาสด้าเคลมเฉลี่ยไว้ 15.9 กม./ลิตร ส่วนการขับขี่จริงเส้นทางภูเก็ตข้ามมาที่อำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา ผ่านชุมชนเมืองและเส้นทางขึ้น-ลงเขา เห็นตัวเลขที่หน้าจอดิจิทัลแสดงผลไว้ 12.2 กม./ลิตร      

รวบรัดตัดความ...เหมือนได้ขับงานศิลปะชั้นเลิศบนท้องถนน ช่วงล่าง การควบคุมถือเป็นที่สุดในคลาส (เมื่อก่อนต้องวัดกับ ฟอร์ด โฟกัส) ถ้าให้ผมซื้อขอจัดตัวรองท็อปราคา 1.069 ล้านบาทพอ แต่เห็นว่าช่วงเปิดตัวใหม่ๆ ลูกค้าจองรุ่นท็อปราคา 1.198 ล้านบาทเกือบ 90% เลยทีเดียว 

คอลัมน์เทสต์ไดร์ฟ

โดย :  กรกิต กสิคุณ

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,510 วันที่ 3 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2562