ส่งออกเดือนสิงหาฯ ติดลบ 4% สนค.คาดทั้งปีโต 0%

20 ก.ย. 2562 | 04:33 น.

ส่งออกเดือนสิงหาฯพลิกกลับมาติดลบ 4% สนค.ชี้ผลพวงสงครามการค้าบีบผู้ประกอบการเร่งส่งออกในเดือนก่อนหน้าเลี่ยงผลกระทบทำยอดวูบ เล็งทั้งปีส่งออกไทยโต 0% หากเฉลี่ยทำได้ที่ 21,000 ล้านดอลล์ต่อเดือน ยอมรับโอกาสขยายตัว 3% ตามเป้าค่อนข้างยาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2562 ได้กลับมาหดตัวหรือติดลบอีกครั้ง (จากเดือนก.ค.2562 ขยายตัวเป็นบวกที่ 4.3%) โดยการส่งออกเดือนสิงหาคม 2562 มีมูลค่า 21,915 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,862 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเดือนสิงหาคมไทยยังเกินดุลการค้า 2,053 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่การส่งออกในภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2562(ม.ค.-ส.ค.)มีมูลค่ารวม 166,091 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 159,984 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 3.6% ส่งผลให้ช่วง 8 เดือนแรกไทยยังเกินดุลการค้า 6,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

รายงานระบุว่า สาเหตุที่การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2562 ได้กลับมาติดลบอีกครั้งผลจากผู้ประกอบการได้เร่งส่งออกในเดือนกรกฎาคม เพื่อลดผลกระทบสงครามการค้าที่สหรัฐฯประกาศจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ก่อนจะเริ่มมีผลบังคับใช้จริงในเดือนกันยายน

ส่งออกเดือนสิงหาฯ ติดลบ 4% สนค.คาดทั้งปีโต 0%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า ผลกระทบจากสงครามทางการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญๆของไทยในหลายตลาดหดตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาด อาเซียน-5 CLMV และเอเชียใต้มีการหดตัวในระดับสูง ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำได้ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงหดตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกสินค้าเกษตรในเดือนสิงหาคม 

โดยการส่งออกไปยังตลาดสำคัญๆพบว่าขยายตัวลดลง 0.1% โดยเฉพาะตลาดหลัก อย่างยุโรป ที่ขยายตัวลดลง6.2% ญี่ปุ่นขยายตัวลดลง 1.2%  จากการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าโลกรุนแรงขึ้นที่ขยายผลกระทบกว้างขึ้น ทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม และการส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ของไทยปรับตัวลดลง   โดยตลาดศักยภาพสูงขยายตัวลดลง 16% เนื่องจากการส่งออกไปอาเซียน-5 ขยายตัวลดลง24.6% และเอเชียใต้ขยายตัวลดลง 20% ส่วนการส่งออกไปจีนขยายตัวลดลงไม่มากนัก 2.7%  ขณะที่ตลาดศักยภาพระดับรองขยายตัว 0.2%  แอฟริกา ขยายตัวลดลง 22.8%  กลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวลดลง10.5%  และลาตินอเมริกา ขยายตัวลดลง 8.2 %

ส่งออกเดือนสิงหาฯ ติดลบ 4% สนค.คาดทั้งปีโต 0%

ทั้งนี้สินค้าที่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯเช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เครื่องส่งโทรศัพท์และโทรทัศน์ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น โดยภาพรวม8เดือนแรก ขยายตัว 14.9 %  ส่วนตลาดจีนกลับขยายตัวลดลง 2.7% ซึ่งสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ และรถยนต์และส่วนประกอบ 8เดือนแรก ขยายตัวลดลง 6.9%  เช่นเดียวกับ ตลาดญี่ปุ่น ที่ขยายตัวลดลง 1.2%ซึ่งสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก และ รถยนต์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และไก่แปรรูป 8เดือนแรก ขยายตัวลดลง 0.8%   ตลาดสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวลดลง 6.2%  โดย 8 เดือนแรกขยายตัวลดลง6.4%   ตลาดอาเซียน-5 ขยาดตัวลดลง 24.6% 8เดือนลดลง 10.8%   ตลาด CLMV ขยายตัวลดลง 22.7%  ขณะที่8เดือนแรกขยายตัวลดลง 5.3%  เอเชียใต้ ขยายตัวลดลง 20%  อินเดีย ขยายตัวลดลง 18% เป็นต้น

อย่างไรก็ตามนางสาวพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า การส่งออกไทยยังถือว่าได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลางยังคงขยายตัวได้ดี และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากการส่งออกทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับที่ขยายตัวในระดับสูง ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวลดลง1.9% เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลดลงทุกตลาดที่ 27.7% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลง12.6%  เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลง 10.5%  เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ลดลง 9.5% รวม 8 เดือน มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวลดลง1.5% 

ส่งออกเดือนสิงหาฯ ติดลบ 4% สนค.คาดทั้งปีโต 0%

ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเดือนสิงหาคมขยายตัวลดลง 4.4% โดยพบว่า ข้าว ลดลง 44.7%  ในตลาดแอฟริกาใต้ จีน กานา และแคเมอรูน แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และเซเนกัล  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลดลง 25.3%   ยางพารา ลดลง 7.2%  กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป ลดลง 10.8%  เครื่องดื่ม ลดลง 8.9%  รวม 8 เดือน สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวลดลง 2.2% ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดีเช่น ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 26.8%  น้ำตาลทราย ขยายตัว15.3%  ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 5.6%

ส่งออกเดือนสิงหาฯ ติดลบ 4% สนค.คาดทั้งปีโต 0%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2562 สนค.มองว่ายังมีความเสี่ยงจากสงครามการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออกในครึ่งปีหลังให้สามารถขยายตัวได้ที่ 3%  โดยมีนโยบายรักษาตลาดเดิม ขยายตลาดใหม่ ฟื้นฟูตลาดเก่า เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ที่เคยเป็นตลาดข้าวเก่าของไทย เช่น อิรัก รวมทั้งตลาดอื่นๆ เช่น จอร์แดน กาตาร์ บาห์เรน คูเวต ตลาดอาเซียนและ CLMV เป็นตลาดศักยภาพและมีโอกาสเพิ่มตัวเลขการค้าอีกมาก โดยเฉพาะการค้าชายแดนและผ่านแดนซึ่งต้องเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า ตลาดจีน มุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าในพื้นที่ที่ไทยเข้าไปทำตลาดแล้ว รวมทั้งขยายไปยังมณฑลตอนในหรือเมืองรองที่ยังเข้าไม่ถึง ตลาดอินเดีย ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงมาก และมีความต้องการในการบริโภคที่หลากหลาย

 

ทั้งนี้นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีกำหนดการเยือนจีน และอินเดีย ในปลายเดือนกันยายนนี้ เพื่อเร่งผลักดันสินค้าเกษตรของไทย ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสินค้าเกษตรอื่น ๆ ให้ได้มากที่สุด 

“สนค.เตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาขยายตลาดข้าวในประเทศอื่นๆ ทดแทนตลาดที่การส่งออกข้าวลดลง  ส่วนการส่งออกทั้งปี สนค.ประเมินว่าปีนี้น่าจะขยายตัว 0% โดยอีก 4 เดือนที่เหลือต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากยังคงเป้าหมายขยายตัวที่ 3% ในเดือนที่เหลือต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 23,000-23,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเชื่อว่าสหรัฐยังไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนส่วนที่เหลือ ในช่วงที่เหลือของปีนี้เพราะจะกระทบกับการบริโภคในประเทศที่ใกล้เทศกาลคริสต์มาสและหากประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาสงครามการค้านับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว มาถึงปัจจุบันส่งผลให้การส่งออกติดลบแล้ว 0.58%”