ดึงTGอุ้มไทยสมายล์ ชงล้างหนี้8พันล้าน

19 ก.ย. 2562 | 05:40 น.

ไทยสมายล์ ปลดล็อกขาดทุนสะสม 8 พันล้าน ชงบอร์ด 20 ก.ย.นี้ ดึงการบินไทยเพิ่มทุน 5-6 พันล้าน ผุดแผน 5 ปีบูรณาการขาย-จัดรูตบินสอดรับแผนบริษัทแม่ ตั้งเป้าใช้งานเครื่องบินปีหน้า 11 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มยอดขายผ่านสตาร์อัลไลแอนซ์ 

การดำเนินธุรกิจของสายการบิน ไทยสมายล์ ซึ่งการบินไทยถือหุ้น 100% นับจากสยายปีกมากว่า 7 ปี ปัจจุบันยอดขาดทุนสะสมอยู่ที่ราว 8 พันล้านบาท ขาดทุนเกินทุนอยู่กว่า 6 พันล้านบาท แต่นับจากนี้ธุรกิจของไทยสมายล์

กำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้การแก้ปัญหาการขาดทุน โดยการปรับโครงสร้างทาง การเงิน ที่จะเร่งดำเนินการได้ภาย ในสิ้นปีนี้ และการเดินหน้าตามแผน 5 ปี (ปี2563-2567) ที่จะบูรณา การวางแผนร่วมกับการบินไทย 

 

20 ก.ย.ชงบอร์ดเพิ่มทุน

นางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในขณะนี้ไทยสมายล์อยู่ระหว่างการแก้ปัญหาการขาดทุน โดยได้หารือกับการบินไทยแล้ว ว่าแนวโน้มในการแก้ปัญหาการขาดทุนสะสมกว่า 8 พันล้านบาทของไทยสมายล์ ซึ่งจะเป็นวิธีที่เร็วที่สุดและสั้นที่สุด คือ การปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยให้การบินไทยเพิ่มทุนให้กับไทยสมายล์ ซึ่งจะคล้ายๆกับการแปลงหนี้เป็นทุน เป็นเรื่องของการเพิ่มทุนทางบัญชี ไม่ได้ดึงเงินสดออกมาเพิ่มทุน

ปัจจุบันไทยสมายล์ เป็นหนี้การบินไทยอยู่ราว 8 พันล้านบาท และการบินไทย เป็นหนี้ไทยสมายล์อยู่ราวกว่า 2 พันล้านบาท การเพิ่มทุนของการบินไทย ก็จะเป็นการลดหนี้ให้ไทยสมายล์ เพราะหากการบินไทยไม่เพิ่มทุนตาม มาตรฐานบัญชีใหม่หรือมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) ที่จะเริ่มใช้ในปีหน้า หนี้ในส่วนนี้ที่เกิน 2 ปีการบินไทยก็ต้องตัดสำรองเป็นหนี้สูญไปอยู่ดี

“ตอนแรกที่คุยกันไทยสมายล์ก็มองว่าการบินไทยน่าจะเพิ่มทุนราว 3 พันล้านบาท แต่หาก อยากแก้ปัญหาการขาดทุนของไทยสมายล์ให้หมด ก็ควรจะอยู่ที่ 5-6 พันล้านบาท ซึ่งในการประชุมบอร์ดไทยสมายล์วันที่ 20 กันยายนนี้ จะมีการนำเรื่องของการเพิ่มทุนให้บอร์ดพิจารณาว่าสรุปแล้วควรจะเพิ่มทุนเท่าไหร่ ที่จะไม่เป็นภาระของการบินไทยและทำให้ผลประกอบการไทยสมายล์ดีขึ้น จากนั้นก็จะนำเสนอแผนไปยังบอร์ดการบินไทยต่อไป เพื่อดำเนินการเพิ่มทุนให้แล้วเสร็จก่อนปลายปีนี้” 

ดึงTGอุ้มไทยสมายล์  ชงล้างหนี้8พันล้าน


 

เพิ่มใช้เครื่องบิน10.30ชม./วัน

นอกจากนี้ไทยสมายล์ อยู่ระหว่างการทำแผนธุรกิจ 5 ปี โดยจะมีการทำงานร่วมกับการบินไทยอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการขาย การจัดเส้นทางการบิน เพื่อให้ไทยสมายล์ มาเสริมการให้บริการผู้โดยสารต่อเครื่อง (คอนเน็กติ้งไฟลต์) ให้กับการบินไทย และยังทำให้ไทยสมายล์ มีกำไรและขยายเน็ตเวิร์ก

ปัญหาการขาดทุนของไทยสมายล์ในอดีตที่ผ่านมาเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. อัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบิน( Aircraft Utilization) ที่ผ่านมาไทยสมายล์ ใช้งานราว 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 10 ชั่วโมงครึ่ง และ 2.ปัญหาเรื่องการบูรณาการขายร่วมกับการบินไทย

ทั้ง 2 ปัจจัยที่เป็นปัญหาหลักของการปฏิบัติการบิน ขณะนี้มีการแก้ไขแล้ว โดยต่อไปฝ่ายขายของการบินไทย นอกจากมีเคพีไอในการขายของตัวเอง ก็ต้องตั้งเคพีไอในการขายให้กับไทยสมายล์ด้วย ส่วนการใช้ประโยชน์ เครื่องบิน ตอนนี้ก็มีทิศทางชัดเจนว่าการวางแผนการใช้งานเครื่องบินทั้ง 20 ลำของไทยสมายล์ ก็จะวางแผนให้เหมือนกับว่าทั้ง 20 ลำนี้เป็นฝูงบินของการบินไทย เพื่อจัดตารางบินให้สอดรับกับการต่อเครื่องของการบินไทย

รวมถึงการเพิ่มเที่ยวบินหรือเปิดจุดบินใหม่ โดยไทยสมายล์ จะเปิดจุดบินใหม่ในเส้นทางเชียงใหม่-เกาสง และไฮเดอราบัด (อินเดีย) ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะทำให้การใช้ประโยชน์เครื่องบินของไทยสมายล์ในปีนี้เพิ่มเป็น 10 ชั่วโมงครึ่งได้ภายในปลายปีนี้ และในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 11 ชั่วโมง ทั้งยังมองไปถึงปี2565 ว่าไทยสมายล์ควรจะต้องขยายจุดบินใหม่ไปที่ใดบ้าง ต้องใช้เครื่องบินเพิ่มอีกกี่ลำ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา อาทิ เส้นทางในญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดีย จีน

 

เชื่อมขายผ่านสตาร์อัลไลแอนซ์

การทำงานร่วมกันจะเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน เพราะจุดแข็งของไทยสมายล์คือบริการ และต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ ส่วนการบินไทยมีจุดแข็งด้านการตลาด มีเครือข่ายที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้เห็นได้ชัดเจนว่าจากการร่วมมือที่เริ่มเห็นรูปธรรมตั้งแต่ต้นปี ก็ทำให้ปัจจุบันมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยที่ 80% โดยเส้นทางในประเทศ เกือบ 85% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม ทำให้ผลประกอบการในช่วง 6 เดือน ปี 2562 มีผลกำไรจากการดำเนินงานเล็กน้อย 

อีกทั้งล่าสุดการที่สายการบินในกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ เลือกให้สายการบินไทยสมายล์ เข้าเป็นคอนเน็กติ้ง พาร์ตเนอร์ ก็จะทำให้ไทยสมายล์มีช่องทางในการขายเพิ่มมากขึ้นจาก 28 สายการบินในกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ เพราะจะเกิดการเชื่อมต่อเที่ยวบินโดยใช้บริการจุดบินต่างๆ ของไทยสมายล์ได้อย่างสะดวกโดยเฉพาะจุดบินภายในไทย เนื่องจากการบินไทยบินในประเทศอยู่เพียง 3 เส้นทางเท่านั้น

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3506 วันที่ 19-21 กันยายน 2562

ดึงTGอุ้มไทยสมายล์  ชงล้างหนี้8พันล้าน