สมรภูมิ ดิวตี้ฟรีค้าปลีกเดือด ‘ทอท.’ ฟัด ‘เซ็นทรัล’

27 ส.ค. 2562 | 23:00 น.

 

กลายเป็นภาพข่าวครึกโครม เมื่อ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ใช้ไม้แข็งกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ยักษ์ค้าปลีกรายใหญ่ของไทย ปิดทางเข้าออก ห้ามผู้เช่าเข้าพื้นที่โครงการเซ็นทรัลวิลเลจ มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท บนถนนบางนา-ตราด กม.15 ซึ่งมีกำหนดจะเปิดให้บริการปลายเดือนสิงหาคมนี้

รายการห้องข่าวเศรษฐกิจ NEWS ROOM ช่วงลึกแต่ไม่ลับ กับ บากบั่น บุญเลิศดำเนินรายการโดย บากบั่น บุญเลิศ และ วิลาสินี แวน ฮาเรน ซึ่งออกอากาศทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 เจาะประเด็นร้อนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้มานำเสนอ โดยที่ผ่านมานั้นทั้ง ทอท. และ ซีพีเอ็น ต่างงัดข้อมูลมาอ้างความชอบธรรมในการใช้พื้นที่ของตน

ซีพีเอ็น ซึ่งได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องนี้ยืนยันว่า ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนและเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ทั้งเรื่องการได้รับใบอนุญาตการก่อสร้างจากผู้มีอำนาจที่รับผิดชอบอย่างถูกต้องตามกฎหมายและปฏิบัติตามข้อกำหนดการก่อสร้างตามพื้นที่ของโครงการซึ่งเป็นไปตามกฎหมายผังเมืองในปัจจุบัน รวมถึงการได้รับใบอนุญาตการเชื่อมทางเข้าออกโครงการอย่างถูกต้องจากหน่วยงานที่มีอำนาจในการอนุมัติ และได้รับอนุญาตในการเชื่อมต่อและขยายเขตวางท่อประปาและไฟฟ้าจากหน่วยงานผู้มีอำนาจ ซึ่งการขอใช้ประปา ไฟฟ้าถือเป็นสิทธิในการเข้าถึงการให้บริการสาธารณูปโภคของประชาชน

ทั้งยังยํ้าแถลงการณ์ด้วยว่า บริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการแข่งขันอย่างเป็นธรรมโดยบริษัทมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้โครงการเซ็นทรัลวิลเลจ เป็นลักชัวรีเอาต์เลตในระดับสากลโดยฝีมือของคนไทย

ในขณะที่ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ยืนยันเช่นกันว่า การนำเต็นท์และแบร์ริเออร์ไปปิดพื้นที่ในเขตทางหลวงหมาย เลข 370 หรือ ถนนเชื่อมระหว่างมอเตอร์เวย์และถนนบางนา-ตราด ติดกับทางเข้า-ออก ประตู 1 ทางเข้าโครงการเซ็นทรัลวิลเลจเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมว่า ปฏิบัติตามหน้าที่ หากไม่ทำตนเองก็จะผิด .157 โดยเหตุผล 3 ประการ คือ 1. ที่ดินบริเวณดังกล่าวได้จากการเวนคืน เป็นที่ราชพัสดุที่ต่อมาได้มอบให้ ทอท.ครอบครองและใช้ตามวัตถุ ประสงค์การเวนคืนเรื่องทำสนามบินพาณิชย์เท่านั้น

 

สมรภูมิ ดิวตี้ฟรีค้าปลีกเดือด  ‘ทอท.’ ฟัด ‘เซ็นทรัล’

 

2. ปัจจุบันการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังอยู่ในโครงการพัฒนาระยะที่ 2 หากในอนาคตมีการพัฒนาเต็มรูปแบบ การจราจรในบริเวณทางเข้า-ออกทางทิศใต้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีปริมาณการจราจรที่หนาแน่นกว่าปัจจุบัน

และ3.การทำทางเชื่อมอาจทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการสร้างระบบสาธารณูปโภคในช่วงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะถัดไป เช่น การก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 kv ที่มีแนวก่อสร้างตามแนวทางหลวงหมายเลข 370

 

 

อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่าง ทอท.กับ ซีพีเอ็น นั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เมื่อทาง ทอท.ได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า โครงการเซ็นทรัลวิลเลจของซีพีเอ็นนั้น ใช้ที่ดินผิดประเภท ทำเรื่องร้องเรียนไปที่ อบต.บางโฉลง ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ระบุว่า การอนุมัติให้ใช้พื้นที่เพื่อการพาณิชย์นั้นไม่สามารถทำได้เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียวไม่สามารถทำเพื่อการพาณิชย์ได้

นอกจากนี้ยังได้ส่งหนังสือร้องไปที่ กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ส่งมอบที่ดินให้กับ ทอท. เพื่อให้ใช้ในการปฏิบัติการการบิน ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกันกับที่ทาง ทอท. เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิมูลค่า 15,420 ล้านบาท

 

สมรภูมิ ดิวตี้ฟรีค้าปลีกเดือด  ‘ทอท.’ ฟัด ‘เซ็นทรัล’

 

ซึ่งจากทำเลที่ตั้งของโครงการเซ็นทรัลวิลเลจที่ดักทางเข้า-ออกของสนามบินสุวรรณภูมิซีพีเอ็นคาดว่าจะมีรายได้ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท

คำถามสำคัญ คือ พื้นที่ทางเข้าออกโครงการเซ็นทรัลวิลเลจนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร ระหว่าง ทอท.ในฐานะผู้บริหารสนามบินกรมธนารักษ์เจ้าของที่ดิน หรือกรมทางหลวงผู้สร้างและซ่อมทาง

ตอนหนึ่งในรายการ นายบากบั่น อ้างถึงข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของ นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยว่า การก่อสร้างโครงการเซ็นทรัลวิลเลจ ของ ซีพีเอ็น ซึ่งอยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมินั้น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้อนุญาตให้ก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 โดยผู้ที่มายื่นขออนุญาตก่อสร้างในครั้งนั้น คือ บริษัท สวรรค์วิถี จำกัด ซึ่งแนบแบบแปลนมาให้กับ กพท.ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการแก้ธงแดงของไทยกับ ICAO

จากการตรวจสอบ ยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการแนวร่อนในพื้นที่ปลอดภัยด้านการเดินอากาศยานจึงได้อนุมัติก่อสร้างให้ ซึ่งทาง กพท.ได้ส่งหนังสือชี้แจงไปยัง ทอท.เรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่า โครงการนี้ไม่ได้ส่งผล กระทบต่อแนวร่อนของสนามบิน จากเหตุผลดังกล่าวได้หักล้างประเด็นที่ทาง ทอท. อ้างว่า โครงการนี้กีดขวางแนวการบินให้ต้องตกไป

 

ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามตามมา คือ พื้นที่ดังกล่าวใครเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติซึ่งจากข้อมูล ระบุว่า เป็นที่ราชพัสดุโดยกรมธนารักษ์มอบหมายให้ ทอท. นำไปใช้เพื่อปฏิบัติการด้านการบิน ซึ่ง ทอท.ได้ทำหนังสือรอบแรกแจ้งไปยัง กรมธนารักษ์ ขอให้ช่วยดำเนินการเรื่องนี้กับเอกชน เนื่องจาก ทอท.ไม่ได้ใช้อำนาจในตอนนั้น ซึ่ง กรมธนารักษ์ ก็ชี้แจงกลับมาว่า ที่ดินดังกล่าวนั้นได้มอบให้ ทอท.ไปดำเนินการแล้วจึงหมดหน้าที่ของ กรมธนารักษ์ แล้ว

 

สมรภูมิ ดิวตี้ฟรีค้าปลีกเดือด  ‘ทอท.’ ฟัด ‘เซ็นทรัล’

 

อย่างไรก็ดี เมื่อดูบริเวณพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาทขึ้นนั้น ปรากฏ ข้อมูลที่น่าสนใจโดยนายบากบั่น นำเอกสารมาเทียบเคียงให้เห็นภาพว่า ผู้ที่รับผิดชอบมีหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องการให้ใช้ที่ดินแนวรอยต่อก่อนขึ้นถนนนั้นเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ กรมทางหลวง ซึ่งเคยปรากฏข้อมูลว่า ทอท.เคยทำเรื่องขออนุญาตสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพักในเขตทางหลวงหมายเลข 370 ตอนทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านถนนบางนา บางบัว ลงนามโดยนายอภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจาก ผอ.ทางหลวงแผ่นดิน สอดรับกับข้อมูลที่ ซีพีเอ็น อ้างไว้เบื้องต้นแล้วว่า ได้ทำเรื่องขออนุมัติเรื่องนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้สั่งให้ ทอท. เข้าไปดูแลในเรื่องนี้ ทั้งยังยํ้าด้วยว่า ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด อะไรที่ไม่ดีก็อย่าไปทำ กฎหมายบังคับใช้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันหมด ดังนั้นต้องดูข้อเท็จจริงและกฎหมายให้ครบถ้วนในการดำเนินการ

ยังต้องจับตากันต่อว่า ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ซีพีเอ็นจะเปิดให้บริการตามกำหนดได้หรือไม่ ขณะที่ ทอท.จะงัดไม้เด็ดอะไรมาดำเนินการเรื่องอีก

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3500 วันที่ 29-31 สิงหาคม 2562

สมรภูมิ ดิวตี้ฟรีค้าปลีกเดือด  ‘ทอท.’ ฟัด ‘เซ็นทรัล’