จี้ฉวยโอกาสเทรดวอร์เดือด! ตีปี๊บดึงทุนมะกันย้ายฐานเข้าไทย

26 ส.ค. 2562 | 10:46 น.

พาณิชย์ชี้สงครามการค้ารอบล่าสุด จีนล็อกเป้าทุบกลุ่มสินค้าฐานเสียง “ทรัมป์”  และสินค้าส่งออกสำคัญทั้งถั่วเหลือง-รถยนต์-น้ำมันดิบ ชี้ในวิกฤติยังมีโอกาส ตรวจพบสินค้าไทยหลายกลุ่มมีศักยภาพส่งออกทดแทนสินค้าสหรัฐฯในจีน จี้ฉวยจังหวะ “ทรัมป์”สั่งบริษัทมะกันย้ายฐานจากจีน เร่งดูดเข้าไทย

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่จีนประกาศปรับแผนการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 5-10% รวม 5,078 รายการ มูลค่า 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมทั้งมีแผนขึ้นภาษีรถยนต์ 25% และชิ้นส่วนยานยนต์ 5% เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมาว่า การขึ้นภาษีของจีนครั้งนี้ มีเป้าหมายไปที่รายการสินค้าต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ฝ้าย เนื้อหมูและวัว น้ำมันดิบ เครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (โทรศัพท์มือถือ และเซมิคอนดัคเตอร์) อุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องบินเล็ก เป็นต้น

ขณะที่สหรัฐฯ ประกาศตอบโต้ทันทีโดยเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจีนคือ 1. สินค้ากลุ่ม 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 15% (จากเดิม 10%) มีผลบังคับใช้วันที่ 1 กันยายน และ 15 ธันวาคม 2562  และ 2.สินค้ากลุ่ม 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่สหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าจีนไปแล้วไปแล้ว 25% จะเพิ่มเป็น 30% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 อีกทั้งสั่งการให้บริษัทเอกชนของสหรัฐฯ ถอนการลงทุนออกจากจีนทันที

จี้ฉวยโอกาสเทรดวอร์เดือด! ตีปี๊บดึงทุนมะกันย้ายฐานเข้าไทย

                   การขึ้นภาษีตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯ-จีน ก่อนรอบล่าสุด

 

ทั้งนี้มาตรการของจีนค่อนข้างเฉพาะเจาะจงและมุ่งเป้าสินค้าที่เป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีโดนัลป์ ทรัมป์ เป็นหลัก เช่น ในแถบ Midwest และตอนใต้ ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้ส่งออกถั่วเหลือง อีกทั้งสินค้าส่งออกสำคัญของสหรัฐฯ ในตลาดจีน ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ รวมถึงน้ำมันดิบ โดยจีนยังเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบที่สำคัญของสหรัฐฯ มีสัดส่วนประมาณ 6% ของการส่งออกต่อปี ตลอดจนอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี และเครื่องจักรของสหรัฐฯ

โดย สนค. ได้ตรวจสอบรายละเอียดรายการสินค้าที่จีนขึ้นภาษีสหรัฐฯ พบว่าสินค้าส่วนใหญ่จีนได้ใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้ ในล็อต 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มีสินค้าใหม่ประมาณ 2,000 รายการ และพบว่าสินค้าไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งส่งออกทดแทนในหลายรายการ อาทิ ปลาแช่แข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์นมและครีม เครื่องจักรสาน เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ อุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของยานยนต์ 

จี้ฉวยโอกาสเทรดวอร์เดือด! ตีปี๊บดึงทุนมะกันย้ายฐานเข้าไทย

                            "ทรัมป์-สี จิ้นผิง" 2 ผู้นำคู่สงครามการค้า

“แม้การตอบโต้ครั้งล่าสุดระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย แต่ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น สร้างความวิตกกังวลว่า จะเร่งส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ซึ่งก่อนหน้านี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกกำลังขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง และไอเอ็มเอฟได้ประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2562 ไว้ที่ 3.2% (ล่าสุด ก.ค.62) ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.3% เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในจีนและเยอรมนี ประเด็นเรื่อง Brexit ความตึงเครียดในฮ่องกง หรือการลาออกจากตำแหน่งผู้นำอิตาลี ล้วนเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น”

 

นอกจากนี้ประเด็นเงินบาทแข็งค่าก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยในตลาดที่ 3 อย่างไรก็ตาม คาดว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในแถบยุโรป และญี่ปุ่น และแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยในหลายอีกประเทศ จะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) จะลดอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้เพื่อรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งในระยะที่ค่าเงินมีแนวโน้มผันผวน ผู้ส่งออกควรเร่งทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และผู้นำเข้าควรทำสัญญาระยะยาวกับคู่ค้าเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขาย และลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนจากข้อพิพาททางการค้า

ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะใช้มาตรการใดต่อไป ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้รูปแบบทางการค้าและการลงทุนเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คิด ไทยควรใช้โอกาสที่สหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนให้บริษัทเอกชนสหรัฐฯพิจารณาแหล่งผลิตอื่นๆ แทนจีน ซึ่งจะส่งผลถึงการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากข้อพิพาททางการค้า

จี้ฉวยโอกาสเทรดวอร์เดือด! ตีปี๊บดึงทุนมะกันย้ายฐานเข้าไทย

“กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งทีมวอร์รูม (War Room) ติดตามสถานการณ์สงครามการค้าอย่างใกล้ชิดและเสนอแนวทางรับมืออย่างทันท่วงที และเฝ้าระวังการนำเข้าในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อะลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เครื่องจักรไฟฟ้าฯ ทองแดง และเคมีภัณฑ์ เพื่อป้องกันสินค้าจีนไหลเข้ามาไทยเป็นจำนวนมากจากมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศและผู้บริโภค รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ไทยเป็นแหล่งสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าอีกด้วย”