ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญสั่งคดี ‘ธนาธร’ ถือหุ้นสื่อ

26 ส.ค. 2562 | 00:30 น.

 

งวดเข้ามาทุกขณะกับ “4 คดีร้อนทางการเมือง” ซึ่งครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญขีดเส้นให้ “ผู้ถูกร้อง” ทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากันไปแล้ว และคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาในสัปดาห์นี้ 

เริ่มจากคดีถือหุ้นสื่อใน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัคร ส.ส. โดยศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง พร้อมมีคำสั่งให้นายธนาธร หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562​

ที่ผ่านมา หลังจากที่ครบกำหนดการขอขยายเวลายื่นหลักฐานแก้ข้อกล่าวหา 30 วันแล้ว เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ได้ส่งทีมกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่หอบเอกสารรวม 70 หน้า พร้อมเอกสารประกอบการชี้แจง 50 รายการ กว่า 200 แผ่นมายื่นต่อศาล ส่วน “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ในฐานะผู้ร้อง หลังจากได้ขอขยายเวลาทำคำคัดค้านแก้ข้อกล่าวหาของนายธนาธร ต่อศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งได้ครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมานี้

คดีนี้หากศาลตัดสินว่า มีความผิดตามร้อง นอกจากต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.แล้ว นายธนาธร ยังอาจเข้าข่ายกระทำความผิดมาตรา 54 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.สมัครลงรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ทั้งที่รู้ว่าไม่มีสิทธิ ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมาตรา 132 (3) ระบุว่า หัวหน้าพรรค หรือคณะกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น ปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดโดยไม่ยับยั้ง ให้กกต.ยื่นคำร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ “ยุบพรรคการเมือง” นั้น

มาตรา 151 ยังระบุด้วยว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งรู้ตัวว่า ไม่มีสิทธิแล้วยังสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

 

ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญสั่งคดี  ‘ธนาธร’ ถือหุ้นสื่อ

 

 

อนค.ล้มล้างการปกครอง?

คดีที่ 2 คือ กรณีที่ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเขียนข้อบังคับพรรคในลักษณะไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ และอาจนำไปสู่การสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ได้

 

คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม และให้ “ผู้ถูกฟ้อง” ทั้ง 4 ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ซึ่งครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการยืนยันจากการให้สัมภาษณ์ของ นางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ว่า ได้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

 

“บิ๊กตู่”ลุ้นปมเจ้าหน้าที่รัฐ

อีกคดีที่เชื่อว่าจะมีความเคลื่อนไหวในสัปดาห์นี้เช่นกัน กรณีที่ส.ส.ฝ่ายค้าน 110 คน ยื่นผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรถึงศาลรัฐธรรมนูญขอให้ตรวจสอบ “คุณสมบัติการเป็นนายกฯ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ให้ตำแหน่งนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1 (4) ประกอบมาตรา 82 วรรค 1

เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 85 (15) เหตุเพราะเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” สมัยที่ยังเป็น “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) แล้วมาสมัครเป็นแคนดิเดตนายกฯ ให้กับพรรคพลังประชารัฐ โดยศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา และให้ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งคำชี้แจงภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับสำเนาคำร้อง ซึ่งครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม

 

32 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ

ลุ้นกันต่ออีกคดีกรณีที่ “32 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล” ถูกส.ส.พรรคอนาคตใหม่ยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นส.ส. เนื่องจากถูกอ้างว่าถือหุ้นอยู่ในบริษัทสื่อ ซึ่งก่อนถึงกำหนดการขอขยายเวลา ในวันที่ 17 สิงหาคม นายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมสู้คดีพรรคพลังประชารัฐได้นำคำชี้แจง พร้อมหลักฐานสำคัญ คือแบบวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท (สสช.1) แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) และเอกสารงบดุลบริษัท พร้อมภาพถ่ายการประกอบธุรกิจของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ทั้ง 20 ราย รวมถึงคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.พรรคประชาภิวัฒน์ มายื่นต่อศาล

 

ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญสั่งคดี  ‘ธนาธร’ ถือหุ้นสื่อ

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบอำนาจให้ทนายความนำคำชี้แจง และพยานหลักฐานมายื่นต่อศาลในวันเดียวกันนั้น ขณะที่ นายราเมศ รัตนเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้นำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเอกสารหลักฐานของ 6 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มายื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมาแล้วเช่นกัน

 

จับตาศาลรธน.สั่งคดี

เมื่อดูกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนหลังจากนี้หากศาลเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุม ปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ต้องทำการไต่สวนก็ได้

 

ทั้งนี้ การไต่สวนของศาลนั้น ให้กระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควรเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาล หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ศาลมีอำนาจกำหนดบุคคลที่มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ ซึ่งหากศาลกำหนดให้มีการไต่สวนสู้คดีของคู่กรณี ก็จะมีขั้นตอนตามมา คือ เมื่อศาลประกาศกำหนดวันนัดไต่สวนครั้งแรก ให้ส่งสำเนาประกาศแก่คู่กรณี ก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยคู่กรณีจะอ้างตนเอง บุคคล และหลักฐานอื่นเป็นพยานหลักฐานได้ซึ่งหากคู่กรณีจะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมต้องยื่นก่อนวันที่ศาลกำหนดว่า จะมีคำวินิจฉัยไม่น้อยกว่า 7 วัน

ในวันที่ศาลออกนั่งพิจารณาและไต่สวนพยาน หากคู่กรณีใดไม่มา ศาลสามารถดำเนินกระบวน การพิจารณาคดีต่อได้ และหากศาลเห็นว่า คดีใดมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลจะงดการไต่สวนก็ได้ โดยคู่กรณีสามารถร้องต่อศาลขอแถลงการณ์เปิดหรือปิดคดีก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควรโดยให้ทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ศาลเห็นว่า ให้กระทำด้วยวาจาโดยให้ผู้ร้องแถลงก่อน แล้วให้ผู้ถูกร้องแถลงลำดับถัดไป โดยศาล จะซักถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมระหว่าง หรือหลังการแถลงก็ได้ในขั้นตอนนี้ไม่กำหนดกรอบเวลา ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของคดีและการไต่สวน

ต้องมาลุ้นกันว่า 4 คดีการเมืองที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ ในการประชุมสัปดาห์นี้จะมี “คำสั่ง” ใดๆ ออกมาหรือไม่

แต่หากถามว่าใน 4 คดีนี้ คดีใดที่ศาลน่าจะมีคำพิพากษาออกมาก่อน ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นคดี “ธนาธรถือหุ้นสื่อ” ที่จะรู้ผลก่อนคดีอื่นๆ... 

รายงาน โดย ทีมข่าวการเมือง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3498 หน้า 16 วันที่ 22- 24 สิงหาคม 2562

ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญสั่งคดี  ‘ธนาธร’ ถือหุ้นสื่อ