‘บีโอไอ’ปลุกSMEs จับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงผู้ผลิต-ผู้ซื้อทั่วโลก

17 ก.ย. 2562 | 08:30 น.

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ให้ความสำคัญกับการยกระดับหรือพัฒนาผู้ประกอบการ

ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงผู้ประกอบการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่าโลก

(Global Value Chain) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 

รวมไปถึงอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมและการเกษตร

นางสาวบงกช อนุโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความคืบหน้าในการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม ถึงความสำเร็จของการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี และต้องการวิ่งเข้าหาตลาดหรือเข้าหาคู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องการใช้ชิ้นส่วนชนิดต่างๆ จากเดิมจะมีหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือ BUILD (BOI UNIT FOR INDUSTRIAL LINKAGE DEVELOPMENT) เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงทั้งผู้ใช้ชิ้นส่วนและผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ล่าสุด BUILD ถูกพัฒนาเป็นกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน หรือ กพช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้วยการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงระหว่างบริษัทขนาดใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติ ให้หันมาจัดซื้อชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้ไทยขาดดุลการค้าในช่วงที่ผ่านมา

‘บีโอไอ’ปลุกSMEs จับคู่ธุรกิจ  เชื่อมโยงผู้ผลิต-ผู้ซื้อทั่วโลก

 

ทุนมั่นใจมีซัพพลายเออร์หนุน

การสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงการลงทุน เป็นโอกาสที่จะทำให้บริษัทที่มีขนาดใหญ่มีความมั่นใจได้ว่าเมื่อเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าในไทย ไม่จำเป็นต้องลงทุนในทุกสายการผลิต เพราะสามารถหาซัพพลายเออร์ ผลิตชิ้นงานให้ได้ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับประเทศที่ยังมีซัพพลายเชนที่ไม่แข็งแกร่ง การมีผู้รับช่วงการผลิตในประเทศเป็นการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนนอกเหนือจากสิทธิและประโยชน์ด้านต่างๆ

“จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานจัดกิจกรรมหลากหลายประเภท เพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิตขนาดใหญ่กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ อาทิ จัดกิจกรรมผู้ซื้อพบผู้ขาย ตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วน กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ การจัดสัมมนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ไทย รวมทั้งการนำผู้ประกอบการไปร่วมออกบูธในงานแสดงสินค้าที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เชื่อมโยงกับ สมาคมไทยซับคอน ซึ่งมีสมาชิกมากถึง 500 ราย”

นอกจากนี้ยังร่วมกับสมาคมไทยซับคอนและบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ริเริ่มจัดงานซับคอนไทยแลนด์ เพื่อแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตในประเทศไทย จากปีแรกที่มีผู้เข้าร่วมออกบูธเพียงแค่ 50 ราย และได้จัดงานติดต่อกันมา 13 ปี ซึ่งในปี 2562 มีผู้เข้าร่วมออกบูธกว่า 300 บริษัท ทั้งจากในและต่างประเทศ มีผู้เข้าร่วมชมงานแต่ละปีกว่า 2 หมื่นคน กลายเป็นงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตและจับคู่ธุรกิจระดับภูมิภาค

 

ซื้อขายระหว่างไทยกับทั่วโลก

สำหรับผลที่เกิดขึ้น ที่เห็นชัดเจนคือ เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่จากทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมต่างๆ จนไปสู่การเชื่อมโยงและการซื้อขายระหว่าง
ผู้ประกอบการไทยกับผู้ซื้อทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไทยในการผลิตชิ้นส่วนป้อนผู้ประกอบการรายใหญ่ปีละหลายหมื่นล้านบาท รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตชิ้นส่วนผู้ประกอบการไทยด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดสัมมนารายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ อากาศยาน ฯลฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย การแนะนำช่องทางเพื่อเปิดโอกาสในการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างต่างชาติกับไทย (Business Matching)

ทั้งนี้การจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง บีโอไอจะมีการประเมินมูลค่าการซื้อขายที่จะเกิดขึ้น โดยขอให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้ให้ข้อมูล พบว่าในปีงบประมาณ 2562 จนถึงปัจจุบันมีบริษัทเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,500 บริษัท มูลค่าประมาณการซื้อขายจากกิจกรรมการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมทุกประเภท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 23,261.75 ล้านบาท มีบริษัทเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,500 บริษัท และคาดว่ามูลค่าของการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม ในปี 2562 จะเติบโตไม่ตํ่ากว่า 10% ส่วนเป้าหมายในปี 2563 นั้น น่าจะอยู่ที่ 5-10% วัดจากการที่มีผู้สนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

 

กลุ่มอากาศยานจับคู่แล้วกว่า 200 คู่

รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกล่าวอีกว่า เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมามีการขยายกลุ่มการเชื่อมโยงจาก ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ของรัฐบาล ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมอากาศยาน และอุตสาหกรรมออโตเมชัน บีโอไอได้พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพที่จะทำได้ และยังสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ด้วย

 

 

“ในงานซับคอนไทยแลนด์ 2019 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จัดกิจกรรมสัมมนาร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดงานด้านอุตสาหกรรมอากาศยาน ที่ประสบความสำเร็จเกิดการจับคู่ทางธุรกิจในกลุ่มอากาศยานกว่า 200 คู่ นอกจากนั้น ยังได้มีการจัดสัมมนาอีกหลายหัวข้อเพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการไทย”

ในอนาคต สำนักงานมีแผนจะจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมระบบราง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ โดยบีโอไอได้ออกมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนระบบราง หรืออุปกรณ์ โดยจะจัดให้มีการสัมมนาระบบรางขึ้นในปลายเดือนกันยายนนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเนื้อหาและสามารถติดตามข่าวการสัมมนาได้ที่ http://build.boi.go.th

 

ปี61ซื้อขายจริงค่ากว่า 7 หมื่นล.

ปัจจุบันบีโอไอจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอกเข้ามาประเมินผลมูลค่าการซื้อขายชิ้นส่วนที่เกิดขึ้นจริง ในแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง โดยผลการสำรวจปี 2561 พบว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมของบีโอไอตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการซื้อขายจริง ในปี 2561 มูลค่าทั้งสิ้น 72,788.56 ล้านบาท

ในอนาคต สำนักงานยังคงมุ่งเน้นภารกิจหลักในการสนับสนุนการเชื่อมโยงผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว และจะเน้นอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้มากยิ่งขึ้น และโดยเฉพาะเมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี ดิสรัปชัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายเล็ก ทุกคนจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ๆ มีการรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน การเรียนรู้ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ ช่วยสร้างการเติบโตไปด้วยกัน 

 

‘บีโอไอ’ปลุกSMEs จับคู่ธุรกิจ  เชื่อมโยงผู้ผลิต-ผู้ซื้อทั่วโลก